วันนี้ (27 พ.ค.2564) นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Nithi Mahanonda" ว่า ตามที่มีข่าวประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น ขออธิบายให้เข้าใจตรงกันตามนี้
1.การที่ราชวิทยาลัยฯ จะมาช่วยจัดหาวัคซีน "ตัวเลือก" มาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยจะค่อย ๆ ลดปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง เช่นเดียวกับยาและเวชภัณฑ์อื่น ๆ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ราชวิทยาลัยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในประเทศ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
2.สำนักงานราชวิทยาลัยที่เป็นส่วนงานยังต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต นำเข้า ร่วมทั้งการให้อนุญาตเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้
3.ประกาศที่ได้ประกาศไปนี้เป็นการประกาศตามภารกิจของราชวิทยาลัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งราชวิทยาลัย อันเป็นภารกิจปกติ
4.ในส่วนของประกาศนี้นั้น เป็นไปตามความเห็นของสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ โดยใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยในเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ
5.ราชวิทยาลัยฯ และกระทรวงสาธารณสุข ทำงานประสานงานกันในเรื่องต่าง ๆ มาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพื่อสุขภาพและการสาธารณสุขที่ดีของประเทศไทย
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นัดแถลงข่าวแนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” ในวันศุกร์ที่ 28 พ.ค.2564 เวลา 13.30 น.-14.30 น. ที่สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์ COVID-19