"ครูนักสำรวจ" กับความหวังรัฐช่วยหนุน ผปค. - นร.ช่วงเรียนออนไลน์

สังคม
3 ส.ค. 64
14:51
2,539
Logo Thai PBS
"ครูนักสำรวจ" กับความหวังรัฐช่วยหนุน ผปค. - นร.ช่วงเรียนออนไลน์
หลายครั้งที่ภารกิจสำรวจข้อมูลความพร้อมการเรียนออนไลน์ กลายเป็นหน้าที่หลักของครูแต่ละโรงเรียนในช่วง COVID-19 แม้ว่าจะผ่านมานานเกือบปี แต่ความช่วยเหลือกลับยังไม่ถึงมือผู้ปกครองและนักเรียนบางส่วน

"ครู หรือ นักสำรวจ ?" กลายเป็นประโยคคำถามที่ใครหลายคนอาจได้เห็นผ่านหน้าสื่อสังคมออนไลน์ ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลัง สพฐ.มีหนังสือด่วนที่สุด สำรวจข้อมูลนักเรียนที่ต้องการรับการสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตสำหรับเรียนออนไลน์ โดยหนังสือคำสั่งลงนามเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยในแบบสำรวจมีการระบุให้รวบรวมข้อมูลภายในวันที่ 4 ส.ค.2564 

 

 

 

 

 

 
ช่วงเวลาที่ครูหลายโรงเรียนต้องปรับตัวในห้องเรียนออนไลน์ กลับมีภารกิจเร่งรัดนอกเหนือจากการเรียนการสอนเข้ามาแทรก ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่ครูต้องทำหน้าที่เป็นนักสำรวจหลังรัฐบาลมีนโยบายให้เริ่มเรียนออนไลน์ตั้งแต่ปี 2563

ครูลูกจ้างโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร สะท้อนปัญหากับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ที่ผ่านมาได้รับภารกิจสำรวจข้อมูลนักเรียนและผู้ปกครองตั้งแต่ปี 2563 โดยรอบแรกสำรวจจานดาวเทียม แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์สำหรับเรียนผ่าน DLTV ซึ่งในช่วงนั้นมีกระแสข่าวว่าจะมีการสนับสนุนกล่องหรือจานดาวเทียมให้นักเรียนแต่สุดท้ายก็เงียบหายไป

หลังการสอนออนไลน์เริ่มเข้มข้นขึ้นก็มีภารกิจรายงานการสอนออนไลน์ โดยเก็บข้อมูลปัญหานักเรียนว่าใครเรียนได้หรือไม่ได้ ขาดอุปกรณ์อะไร ต่อมาก็ยังมีการประชุมเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อเก็บข้อมูลความพร้อมเรียนออนไลน์ และอุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารอีกรอบ

สำรวจทำไมในเมื่อใคร ๆ ก็จำเป็น ?

ล่าสุด หลังมีกระแสข่าวว่าจะมีการช่วยเหลือผู้ปกครองด้วยเงิน 2,000 บาท และมีการสนับสนุนอินเทอร์เน็ต คำสั่งให้สำรวจข้อมูลนักเรียนก็กลับมาอีกครั้ง โดยครั้งนี้ต้องสำรวจข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ ชื่อเจ้าของเบอร์ และชื่อเครือข่าย ซึ่งมาพร้อมกับแบบฟอร์มสำรวจชื่อ - เลขบัตรประชาชนนักเรียน ชื่อ - เลขบัตรประชาชนผู้ปกครอง และเลขบัญชีธนาคาร

ครูทุกคนพร้อมสำรวจข้อมูลเพราะอยากช่วยให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับความช่วยเหลือ แต่ฐานข้อมูลเด็กหลายโรงเรียนก็เก็บมาละเอียดตั้งแต่เยี่ยมบ้านครั้งแรกช่วงเรียนออนไลน์ใหม่ ๆ แล้ว

แม้จะสำรวจหลายครั้ง ก็ไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะครูสาวสะท้อนว่า สิ่งสำคัญคือความหวังที่อยากให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับความช่วยเหลือจริง ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่มีความช่วยเหลือถึงมือใคร

4 ครอบครัว 4 ปัญหา อุปกรณ์เรียนออนไลน์

  • บางบ้านพ่อกับลูกใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวกัน เวลาพ่อต้องรับโทรศัพท์ ลูกก็ต้องออกจากห้องเรียนออนไลน์ เมื่อกลับเข้าห้องอีกครั้งบทเรียนหรือคำถามที่ค้างไว้ก็ผ่านไปแล้ว

  • เด็กบางคนตั้งใจเรียนมาก แต่ที่บ้านไม่มีอินเทอร์เน็ต จนต้องแอบใช้ Wifi ข้างบ้าน วันไหนไม่มี Wifi ก็ต้องอดเรียนหนังสือ สุดท้ายครูไปปรึกษาผู้อำนวยการโรงเรียน จึงอนุโลมให้ใช้อินเทอร์เน็ตที่โรงเรียนชั่วคราว

  • ผู้ปกครองบางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวทำงานเลี้ยงลูก 2 คน แต่ก็ยังไม่พอค่าใช้จ่าย ทำได้เพียงรอเงินค่าอาหารกลางวันรายสัปดาห์ ที่ตกวันละ 20 บาท เพื่อเอาเงินไปเติมอินเทอร์เน็ตให้ลูกได้เรียนออนไลน์

  • ยายของนักเรียนอีกคนไม่มีเงินซ่อมโทรศัพท์ให้หลาน เพราะค่าซ่อม 2,500 บาท ซื้อใหม่ถึงจะถูกกว่าก็เงินไม่พอ ที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องแม้จะไม่มีกล้อง ไม่มีไมค์ แต่ยังเหลือลำโพง 1 ตัว ให้ได้เรียนพอแก้ขัดได้

ครูเริ่มปรับที่ตัวเอง หวัง ศธ.เร่งสนับสนุนอินเทอร์เน็ต

ภาพสะท้อนของปัญหาแต่ละบ้านที่ได้เห็นและรับฟังด้วยตัวเอง ทำให้ครูสาวแปรเปลี่ยนความเห็นใจเป็นกำลังลุกขึ้นเผชิญกับความท้าทายด้วยการเริ่มต้นปรับการสอนใหม่ในรูปแบบ 3 in 1 คือ Online On-Hand และ On-Damand สอนออนไลน์ในคาบเรียน ก่อนจะอัดคลิปอัปโหลดขึ้นยูทูบไว้ให้นักเรียนดูย้อนหลัง

ทุกสัปดาห์การตระเวนแจกใบงานพร้อมเงินอุดหนุนอาหารกลางวันเด็กกลายเป็นอีกหนึ่งกิจวัตร ควบคู่กับทำคลิปสอนโจทย์บางข้อที่นักเรียนหลายคนสงสัยลงแอปฯ TikTok เพื่อให้นักเรียนสนุกไปกับการเรียนการสอน พร้อมความหวังว่า กระทรวงศึกษาธิการจะสามารถช่วยเหลือนักเรียนและผู้ปกครองได้ในเร็ว ๆ นี้

จริง ๆ ไม่ต้องสำรวจก็รู้ได้ว่าเด็กทุกคนต้องการอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนออนไลน์ เพราะหลายคนอยากเรียนมาก หลายคนเรียนเก่งแต่ขาดโอกาส เพราะที่บ้านไม่พร้อมจริง ๆ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เคาะลดภาระค่าใช้จ่าย "นักเรียน-นักศึกษา" วงเงิน 3.2 หมื่นล้าน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง