ที่ชุมชนบางบัว เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่พบผู้ค้าหน้าใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ที่วิไลลักษณ์ แตงอ่อน อดีตพนักงานโรงงานย่านบางบัวทอง ต้องออกจากงาน เนื่องจากบริษัทมีนโยบายในการลดคนงาน เพราะได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่ลดลงในช่วงโควิด-19 ทำให้เธอต้องตัดสินใจหันมาทำอาชีพขายข้าวแกง เพื่อดูแลครอบครัว โดยขายในราคาถูกเพียงถุงละ 30 บาท
สุกัญญา สุโส อดีตพนักงานบริษัทเอกชน ผันตัวมาเป็นแม่ค้าเช่นกัน บอกว่าลาออกจากงานมา 1 ปีแล้ว เพราะรายได้ที่เคยได้รับลดลง บริษัทลดเงินเดือน ลดวันทำงาน และตัดโอที ทำให้รายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายจึงออกมาขายลูกชิ้น ขนมจีบซาลาเปา
ช่วงแรกยังพอขายได้ แต่เมื่อการระบาดของโควิด-19เริ่มรุนแรงขึ้น พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ก็ทำให้ยอดขายหายไปเกือบหมด เพราะคนออกจากบ้านน้อยลง และใช้จ่ายน้อยลงทำให้แต่ละวันเหลือรายได้เพียงวันละไม่ถึง 300 บาท และไม่ใช่เธอคนเดียวเท่านั้นที่ต้องตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้
กำลังซื้อที่ลดลงทำให้บรรยากาศการค้าขายที่เคยคึกคักในชุมชนบางบัวเงียบเหงา แต่ละร้านแทบไม่มีลูกค้า ผู้บริโภคเองเริ่มมีความกังวลเรื่องการใช้จ่าย
เเม่ค้าขายปลาทูบอกว่า ปลาทูนึ่ง ถาดละ 10 -20 บาท เป็นสินค้าที่ขายได้มากที่สุดในร้าน จากเดิมที่ถาดละ 35-50 บาทขายได้มากที่สุด ส่วนภาพรวมการขายของร้านขายไม่ดีเหมือนแต่ก่อน และลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ บางคนตกงาน บางคนรายได้ลด การใช้จ่ายจึงประหยัดค่อนข้างมากกระทบต่อร้านค้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจเกี่ยวกับรายได้จากการจ้างงาน ระบุว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้จะไม่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สาม ส่งผลให้ครัวเรือนเกือบร้อยละ 50 ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน โดยร้อยละ 90.3 มีรายได้จากการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่ร้อยละ 9.7 ขาดรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อที่มีแนวโน้มลด