รพ.สต.ช่วยชุมชนเข้าถึงวัคซีนง่ายขึ้น อสม.ด่านหน้ารับมือโควิด

สังคม
11 ก.ย. 64
08:00
3,425
Logo Thai PBS
รพ.สต.ช่วยชุมชนเข้าถึงวัคซีนง่ายขึ้น อสม.ด่านหน้ารับมือโควิด
รพ.สต.-อสม. ใกล้ชิดชุมชน ในสถานการณ์โควิด-19 ต้องทำงานหนักตั้งแต่การป้องกันและควบคุมโรค ล่าสุดเตรียมยกระดับเป็นจุดฉีดวัคซีนในชุมชน พร้อมส่ง อสม. แนะนำการใช้ ATK เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

ภารกิจขับเคลื่อนงานสาธารณสุขในชุมชน เป็นด่านแรกของการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมาย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้แนะนำการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แก่ประชาชน และวิธีปฏิบัติตัวเมื่อทราบผล โดยในกลุ่มเสี่ยงหากผลเป็นลบต้องกักตัว ติดตามอาการจนครบ 14 วัน และตรวจซ้ำอีกครั้งใน 5 วัน หากผลบวกจะช่วยประสานหน่วยบริการเพื่อพิจารณาส่งแยกกักที่บ้าน ชุมชน หรือส่งโรงพยาบาล 

นอกจากภารกิจตรวจหาเชื้อเชิงรุกด้วย ATK แล้ว อีกส่วนสำคัญของการดูแลคนในชุมชน คือ หน่วยงานปฐมภูมิ อย่าง รพ.สต. ที่ต้องทำงานร่วมกับ อสม. สนับสนุนงานป้องกัน ควบคุมโรค ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน ควบคู่การฉีดวัคซีน 

ไทยพีบีเอสออนไลน์พาลงพื้นที่ ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เรียนรู้ระบบการทำงานของ รพ.สต. และ อสม. ในสถานการณ์โรคโควิด ความพร้อมรวมทั้งการจัดการของหน่วยงานในพื้นที่ทำงานกันอย่างไร  

นางเพ็ญศรี คงเรือง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโรงเหล็ก เล่าภารกิจ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ย้อนไปในอดีตการทำงานเน้นหนักในเรื่องการรักษาพยาบาล และทำคลอด เนื่องจากโรงพยาบาลอยู่ห่างไกล ชาวบ้านเดินทางไม่สะดวกที่พึ่งที่ใกล้ที่สุด คือ สถานีอนามัย ใครเจ็บไข้ไม่สบาย เจ้าหน้าที่ต้องพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

รพ.สต. ในปัจจุบัน เดิมเรียก "สถานีอนามัย" ทำงานบริการสาธารณสุข ดูแลสุขภาพชาวบ้านกันมาอย่างยาวนาน หมออนามัย จึงกลายเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้เสมอ เรียกได้ว่า รู้จักแทบทุกคน กินข้าวได้ทุกบ้าน

ช่วงโควิด เน้นป้องกัน-สร้างความรู้ให้ชาวบ้าน

ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หน้าที่หลักของ "หมออนามัย" หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คือ ส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค ตอนนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด คือ "สร้างความรู้ให้ชาวบ้าน" ผ่านทุกช่องทางที่สามารถทำได้

โรคระบาด เปลี่ยนแปลงและปรับระดับความรุนแรงขึ้นทุกวัน การทำงานจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

แรก ๆ ชาวบ้านมีความกลัว กังวล ถึงโรคระบาดใหม่ที่เกิดขึ้นมาก รพ.สต.ได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการสร้างความตระหนัก ให้ชาวบ้านป้องกันดูแลตนเอง และร่วมกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องคนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ หรือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง

ชุมชนแข็งขันเฝ้าระวัง COVID-19

นางเพ็ญศรี กล่าวว่า อ.นบพิตำ มีประชากรราว 4,000 คน ใน 9 หมู่บ้าน รพ.สต. ทำงานร่วมกันกับ อสม. และโรงพยาบาลประจำอำเภอ ช่วยเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค ครอบคลุมใน 5 มิติ คือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้บริโภค

อสม.จะคอยประสานทำงานกับชาวบ้าน โดยมีการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบ อสม. 1 คน รับผิดชอบดูแลไม่เกิน 15 หลังคาเรือน ช่วยดูแล ส่งเสริมสุขภาพและการให้ความรู้ในเรื่องสุขศึกษา รวมทั้งสื่อสารข้อมูลสถานการณ์โรคให้ชาวบ้านรับรู้

เมื่อมีคนติดโควิดในหมู่บ้านทาง รพ.สต.จะแจ้งประสานกับโรงพยาบาลประจำตำบลเพื่อรับผู้ป่วยไปรักษา และ รพ.สต.จะลงสอบสวนหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพื่อส่งตรวจเชื้อและเสี่ยงต่ำ รวมทั้งออกคำสั่งกักตัว 14 วัน เน้นใช้มาตรการ DMHTTA

หากมีสถานที่เสี่ยงอาจต้องสั่งปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่อื่น ๆ เช่น ล้งผลไม้ แจ้งข่าวสารให้ประชาชนรับทราบให้คนกลุ่มเสี่ยงสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการสงสัย จะต้องรีบแจ้ง อสม.หรือเจ้าหน้าที่ทันที

ตลอดเส้นทางในวิชาชีพ เกือบ 40 ปี นี่เป็นสถานการณ์โรคระบาด ครั้งแรกที่น่ากังวลสุด

 

นางเพ็ญศรี เล่าถึงสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของนบพิตำเป็นป่าเขา มีฝนตกชุกในช่วงหน้าฝน ทำให้ต้องเผชิญกับ "โรคไข้เลือดออก" ซึ่งมียุงลายพาหะเป็นประจำทุกปี แต่สามารถควบคุมและป้องกันโรคได้ โดยมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ อสม.ไปเคาะประตูบ้านเพื่อให้คำแนะนำชาวบ้าน แต่สถานการณ์โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่เป็นวงกว้างควบคุมได้ยากกว่า คนต้องเดินทาง เช่น ไปจ่ายตลาด ซื้อของ ต้องทำมาหากิน การดูแลชาวบ้านในช่วงโควิดยากกว่าโรคระบาดอื่น อีกอย่างก็ยังมีคนที่ไม่ค่อยตระหนัก ยังมีการรวมกลุ่ม เล่นการพนัน จัดงานวันเกิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้ง ผู้นำท้องถิ่น วัด อสม. รวมถึงคนในชุมชน ทุกคนต้องช่วยกันก้าวพ้นช่วงเวลานี้ไปให้ได้ 

รพ.สต.ช่วยชาวบ้านเข้าถึงวัคซีนง่ายขึ้น

นางเพ็ญศรี กล่าวว่า การที่ รพ.สต.จะกลายเป็นจุดกระจายวัคซีนโควิดให้คนในชุมชนเป็นเรื่องดี เพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงบริการได้ง่ายและทั่วถึง แต่จำเป็นต้องมีบุคลากรให้บริการอย่างเพียงพอ และเตรียมเรื่องอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้พร้อมรองรับกรณีผู้รับบริการเกิดการแพ้วัคซีนแบบรุนแรง

รพ.สต.บ้านโรงเหล็ก มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 6 คน พยาบาล 2 คน รองรับการฉีดวัคซีนได้ประมาณ 40 คนต่อวัน โดยเน้นกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยในชุมชน ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนก่อน และขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับ รพ.สต.ในพื้นที่ ได้มีโครงการออกให้บริการวัคซีนแก่กลุ่ม ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ที่สมัครใจ

อย่างไรก็ตาม ต่อไปอยากให้มีพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือในการดำเนินงานและการป้องกันตนเองที่เพียงพอ รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน

อสม.กับภารกิจด่านหน้ารับมือ COVID-19

อสม.มีบทบาทสำคัญช่วยควบคุมโรคในชุมชน การทำงานในช่วงสถานการณ์โรคโควิดระบาด เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร

น.ส.กัญญา สุทธิบูลย์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หมู่ 9 ต.นบพิตำ เล่าถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่า หน้าที่หลักคือการดูแลชาวบ้านและประสานการทำงานกับ รพ.สต. โดยประชุมรับเรื่องต่าง ๆ และแจ้งต่อกับสมาชิก อสม.ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โทรศัพท์พูดคุยกัน เพราะได้พบปะเจอหน้ากันน้อยลง

 

หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบมี อสม. ทั้งหมด 11 คน ซึ่งช่วยกันดูแลชาวบ้านทั้งในเรื่องสุขศึกษา เฝ้าระวังเรื่องโรคระบาด และต้องสื่อสารข้อมูลสถานการณ์โรคที่ถูกต้องให้ชาวบ้าน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกัน อสม. 1 คนต่อ 5 หลังคาเรือน ทำการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ติดตามข้อมูลคนที่เข้ามากักตัวในหมู่บ้าน ก่อนจะส่งข้อมูลไปยัง รพ.สต.

นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อมูลกับชาวบ้านในเรื่องของฉีดวัคซีน เพราะชาวบ้านบางคนไม่มั่นใจเรื่องวัคซีน จากการที่ได้รับข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ในด้านลบ ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านก็มองเรื่องการฉีดวัคซีนไปในแง่ดีมากขึ้น และพร้อมที่จะฉีดหากได้รับการจัดสรร  

 

 

น.ส.กัญญา กล่าวว่า อสม.ต้องมีความรู้อยู่ตลอดเวลาพร้อมที่จะให้ความรู้กับชาวบ้านได้ ก่อนหน้านี้การลงไปในพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อสำรวจลูกน้ำยุงลาย ขณะนี้ก็ปรับให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องโควิด เรื่องวัคซีนด้วย ขณะที่กลุ่มโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดัน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ทางโรงพยาบาลจะจ่ายยา ผ่าน อสม. สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ถือโอกาสนั้นนำยาไปให้และก็ให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ด้วย

การลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านช่วงนี้ถี่หน่อย หากมีผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเข้ามาในหมู่บ้านก็ต้องให้ความรู้เขา แนะนำว่าต้องปฎิบัติตัวอย่างไร ช่วงที่ผ่านมามีคนเดินทางเข้ามามาก ภารกิจของ อสม.ต้องเข้มข้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างการเข้าไปดูแลในงานศพภายในหมู่บ้าน

บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่างานศพต้องไปขออนุญาตที่ไหนบ้าง เราก็ต้องแนะนำ ต้องไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ต้องไปโรงพยาบาล ไปสถานีอนามัย ต้องไปขออนุญาต

ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับ อสม. เป็นอย่างดี เมื่อมีญาติจะเดินทางมาจากต่างจังหวัด ก็โทรศัพท์มาสอบถาม อสม. ก่อนว่าจะต้องปฎิบัติตนอย่างไร แต่ก็มีส่วนหนึ่งแอบเข้าพื้นที่ทั้งที่มาจากจังหวัดเสี่ยง เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ กรุงเทพฯ

 

น.ส.กัญญา ยังกล่าวว่า หากพูดภาษาชาวบ้าน คือ อสม.ต้องสอดรู้ สอดเห็น จะปล่อยปละละเลยไม่ได้ หากบ้านนั้นไม่ใช้เขตรับผิดชอบก็จะประสานไปให้สอบถามกัน บ้านนั้นมีญาติมานะ แต่ยังไม่ได้รายงานตัวกับผู้นำหมู่บ้าน แต่ละบ้านจะมีเบอร์โทรทุกครัวเรือนจะประสานกันได้ บางคนกลัวโดนกักตัวเลยไม่แจ้ง

ฝากถึงคนที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ ควรที่จะรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยการแจ้ง ประสานงานกับ อสม. หรือ ผู้นำท้องถิ่น

ก้าวสู่บทบาท อสม. ดูแลชุมชนด้วยใจ

น.ส.กัญญา กล่าวว่า เข้ามาทำงาน อสม. ได้ประมาณ 10 ปี แล้ว หลังได้รับการชักชวนจาก อสม.รุ่นพี่ ประกอบกับพี่สาวก็เป็น อสม. มาก่อนจึงซึมซับงานตั้งแต่ยังไม่ได้เป็น อสม.ด้วยซ้ำ ปัจจุบันมีพี่น้องของตนที่ทำหน้าที่เป็น อสม. 4 คน การประสานความร่วมมือจึงง่ายขึ้น รู้จักชาวบ้านทุกคน การสื่อสารพูดคุยจึงไม่ค่อยมีปัญหา ยิ่งในสถานการณ์ของโรคระบาดเช่นนี้

อาชีพหลัก คือ ทำสวน ตื่นตี 2 ไปกรีดยาง ตอนเช้าเสร็จงานก็ไปทำงาน อสม. จัดสรรเวลาของตัวเองไปทำ ใช้เวลาว่างจากการทำงานหาเลี้ยงชีพมาทำงาน อสม.

น.ส.กัญญา กล่าวถึงความภูมิใจที่ได้มาเป็น อสม.ว่า อย่างน้อยก็ได้เป็นตัวประสานระหว่าง รพ.สต. กับชาวบ้าน อย่างหมู่บ้านที่ดูแลเป็นชนบท ชาวบ้านบางคนเขาไม่รู้ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการของตัวเขาเอง เช่น สิทธิการรักษา ตัวเขาเองมีสิทธิอะไรบ้าง ตนก็จะคอยแนะนำ

 

น.ส.กัญญา กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด เป็นสิ่งที่ชาวบ้านหลายคนกังวล จึงช่วยกันคอยเป็นหูเป็นตาให้กันตลอดในช่วงเวลานี้ แม้ในหมู่บ้านจะยังไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ในฐานะ อสม. ทุกคนก็พยายามเต็มที่ในการทำงาน เพื่อให้หมู่บ้าน ชุมชน ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดภายในหมู่บ้านขึ้นมาได้

แต่ถึงแม้ว่าในอนาคตหากพบผู้ติดเชื้อในชุมชน เชื่อว่า ชาวบ้านทุกคนจะยอมรับและดูแลกันอย่างดีที่สุด เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน ทำงานอย่างเต็มที่ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝึกอบรม อสม.นักวิทย์ 5,000 คน ช่วยสอน ปชช.ใช้ชุดตรวจ ATK

ไทยติด COVID-19 เพิ่ม 15,191 คน เสียชีวิต 253 คน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง