“มิ่งขวัญ” ตั้งฉายารัฐบาลแอปฯ เป๋าตัง ใช้เงินไม่เป็น-จัดการวัคซีนเหลว

การเมือง
2 ก.ย. 64
14:34
395
Logo Thai PBS
“มิ่งขวัญ” ตั้งฉายารัฐบาลแอปฯ เป๋าตัง ใช้เงินไม่เป็น-จัดการวัคซีนเหลว
“มิ่งขวัญ” ชี้นายกฯบริหารผิดพลาดหลายด้านจัดสรรงบฯสาธารณสุขน้อย เบิกจ่ายน้อย จัดหาวัคซีนผิดพลาดทำเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ถามย้ำทำไมไม่เข้าร่วม COVAX

วันนี้ (2 ก.ย.2564) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ พรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า บริหารงานผิดพลาดโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหา COVID-19 นับตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งแรก วันที่ 13 ม.ค.2563 ไทยตรวจพบนักท่องเที่ยวจีนคนแรกติดโรค COVID-19 พบว่า ในปี 2563 มีผู้ติดเชื้อ 6,884 คน และเสียชีวิต 61 คน และในปี 2564 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อ 1,175,866 เสียชีวิต 11,495 คน

มีคำถามว่า บริหารอย่างไรจึงสร้างความเสียหายมากขนาดนี้ พร้อมเปรียบเทียบว่า สงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามเวียดนาม ไทยยังไม่มีการสูญเสียมากเท่านี้

ใช้งบประมาณผิดพลาด

นายมิ่งขวัญอภิปรายว่า รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดเพราะงบประมาณแผ่นดินปี 2563 ใช้งบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ปี 2564 ใช้งบประมาณ 3.28 ล้านล้านบาท ปี 2565 ใช้งบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท

แต่มีปัญหาคือ การจัดหารายได้ไม่ได้ ซึ่งสามารถจัดการได้ด้วยการตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และรัฐบาลยังกู้เงินในปี 2563 และ ปี 2564


นอกจากนี้การจัดสรรงบประมาณก็ผิดพลาด จาก พ.ร.ก.เงินกู้ ในปี 2563 จำนวน 1 ล้านล้านบาท งบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีเพียง 45,000 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ 955,000 ล้านบาท เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เคยเสนอให้เพิ่มงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุขจำนวน 1 แสนล้านบาท

เบิกจ่ายล่าช้า

ทั้งนี้การเบิกจ่ายงบประมาณจากเงินกู้เงินจำนวน 45,000 ล้านบาท วงเงินอนุมัติแล้ว 44,478.69 เบิกจ่ายไป 11,623 ล้านบาท เบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 25.83 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ ปี 2564 รัฐบาลขอกู้เงินอีก 500,000 ล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรด้านการแพทย์และสาธารณสุข 30,000 ล้านบาท และการฟื้นฟูเยียวยา 470,000 ล้านบาทนอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงนำเงินดังกล่าวนำไปใช้ใน “แอปฯเป๋าตัง” เป็นจำนวนมาก

ขอตั้งฉายาว่า รัฐบาลแอปฯ เป๋าตัง แอปฯ ที่เอาเงินประชาชนไปใช้ จุดอ่อนคือ ไม่รู้เอาไปใช้ทำอะไร เอื้อนายทุน ตรวจสอบไม่ได้ สิ่งที่น่าครหาแอปฯตัวแรกเทเข้ากระเป๋านายทุนโดยตรง ต่อมาจึงกระจายไปยังเอสเอ็มอีและร้านเล็ก ๆ

ทำไมต้องถูกบังคับฉีด “ซิโนแวค”

นายมิ่งขวัญกล่าวว่า รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดเรื่องการจัดซื้อวัคซีน โดยเฉพาะการบังคับให้ ประชาชนอายุ 18-60 ปี หรือราว 40 ล้านคนใช้วัคซีนซิโนแวค และ อายุ 60 ปีขึ้นไป ประชาชนราว 11 ล้านคน ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา ทำไมคนไทย 40 ล้านคน ต้องถูกบังคับฉีดซิโนแวคยี่ห้อเดียวทำไมไม่อนุมัติให้ใช้วัคซีนยี่ห้ออื่น ซึ่งได้รับการรับรองจาก WHO

 

ทั้งนี้ ซิโนฟาร์มผลิตโดยภาครัฐจีน และ ซิโนแวคผลิตโดยเอกชนจีน และซิโนฟาร์มเป็นกระแสหลักของรัฐบาลจีน ทำไมไม่ติดต่อซิโนฟาร์ม แต่นำวัคซีนซิโนแวคมาให้คนไทยทำไม และผลวิจัยจากมหิดล พบว่า ซิโนแวคครบโดสป้องกันเดลตา เบตา ไม่ได้ และพบว่า มีตำรวจกว่า 300 นายที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 โดสก็ติดเชื้อ COVID-19

นายมิ่งขวัญกล่าวต่อว่า รัฐบาลยังติดสินใจผิดพลาดเนื่องจาก COVID-19 มีการกลายพันธุ์ และตัดสินใจผิดพลาดซื้อซิโนแวค ท่ามกลางเสียงทักท้วง โดยเฉพาะจากแพทย์จากหลายหลายสถาบันที่เรียกร้องให้รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง และล่าสุดยังพบว่า ยังมีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส

ทำไมไทยไม่เข้าร่วม COVAX

นอกจากนี้การไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ซึ่งพบว่า มีกว่า 192 ประเทศทั่วโลกจาก 200 กว่าประเทศเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อจัดหาวัคซีน ซึ่งเหลือเพียง 7 ประเทศรวมถึงไทยที่ไม่เข้าร่วม และโดยต่อมาผู้อำนวยการศูนย์วัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาขออภัยที่จัดหาวัคซีนไม่ทันสถานการณ์และเตรียมเข้าร่วม COVAX ในรุ่น 2

ผมอภัยให้คุณหมอ แต่ไม่ขออภัยให้นายกฯ

นอกจากนี้รัฐบาลยังตัดสินใจผิดพลาดเรื่องการฉีดวัคซีนไขว้ ซึ่งการฉีดวัคซีนไขว้ เพราะสามารถสั่งวัคซีนได้เพียงชนิดเดียว คือ ซิโนแวค และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการจัดหาแอสตราเซเนกา และทำไมรัฐบาลไม่จัดหาชุดตรวจ COVID-19 เพื่อแยกผู้ป่วยไปรักษา ขณะที่ต่างประเทศแจกให้ประชาชนฟรี และเงินขอกู้ไป 1.5 ล้านล้านบาท ท่านนำเงินไปทำอะไร ซึ่งหากไม่ฟรีก็ควรที่จะมีราคาที่ถูก โดยพบว่า ราคา 360 บาท

นอกจากนี้การจัดหา ATK ที่ไม่โปร่งใส โดยรัฐบาลมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมจัดหา ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ซึ่งเงินที่กู้ไปจำนวนกว่า 1 ล้านล้านบาท สามารถจัดหาได้มากกว่านี้ ให้เพียงพอกับประชากรไทยและแรงงานต่างชาติในไทยราว 70 ล้านคน

และมีการคัดค้านการจัดหา ATK ดังกล่าวจากชมรมแพทย์ชนบท โดยตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการตรวจ แต่ต่อมาก็มีการลงนามจัดซื้อ ATK ดังกล่าว ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทยังคงเกาะติดเรื่องดังกล่าว

คำสั่ง “ปิดแคมป์-ล็อกดาวน์” ผิดพลาด

นายมิ่งขวัญ ยังระบุถึง การสั่งปิดแคมป์คนงาน ซึ่งเป็นนโยบายที่ผิดพลาด ในช่วงเดือน มิ.ย.2564 เนื่องจากแคมป์คนงานรู้ตัวก่อนโดยประกาศวันที่ 26 มิ.ย.2564 แต่มีผลวันที่ 28 มิ.ย.2564 ซึ่งทำให้แรงงานเดินทางออกจากต่างจังหวัดจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ยังตัดสินใจผิดพลาดเรื่อง ล็อกดาวน์ โดยไม่มีมาตรการเยียวยารองรับที่ชัดเจน รวมถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2564 โดยใช้มาแล้ว 14 ฉบับ ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน

ส.ส.ทุกท่านต้องช่วยกันโหต ครับ นายกฯต้องไปครับ

รวมถึงความผิดพลาดในการแก้ปัญหาวัคซีน โดยพบมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่การล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีจำนวนมาก รวมถึงนักร้อง นักแสดง รวมถึงร้านนวดและสปา รถแท็กซี่ รวมถึงสายการบินต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบและผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรมที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาของผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำทั้งข้าว ลำไย ยางพารา ทุเรียน

แก้ปัญหาพลาดกระทบความเชื่อมั่นประเทศ

นอกจากนี้ความผิดพลาดที่กระทบความเชื่อมั่นของประเทศที่ หนี้ครัวเรือน 14 ล้านล้านบาท และ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาฟื้นจาก COVID-19 อีก 60 หรือปี 2570 

นายมิ่งขวัญยังกล่าวว่า โควิดเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทั้งมหภาค จุลภาค ปากท้อง และโยงเข้ามาสู่ความตายของคนไทยทั้งประเทศ สั้นคือ บทสรุปว่า รัฐบาลท่านไม่มีโควิดท่านก็บริหารไม่เก่ง ไม่รอด เศรษฐกิจพัง และเมื่อมีโควิดท่านเจอเหตุการณ์แบบนี้ ผมพูดทั้งหมดแทนความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ

ครั้งที่แล้วผมยกมือกราบ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ท่านก็ยังเฉย ครั้งนี้ก็ขอกล่าวอีกครั้ง ให้นายกฯลงจากเก้าอี้และให้คนไทยคนอื่นที่มีความสามารถเข้าใจปัญหกาวิเคราะห์ปัญหาได้ถูกต้องได้มาแก้ไขสถานการณ์ 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง