หลายมุมมองห่วงคนดูซีรีส์ Squid Game หวั่นเลียนแบบฉากรุนแรง

สังคม
11 ต.ค. 64
08:15
3,627
Logo Thai PBS
หลายมุมมองห่วงคนดูซีรีส์ Squid Game หวั่นเลียนแบบฉากรุนแรง
รองโฆษก ตร.ห่วงเนื้อหาและภาพในซีรีส์ Squid Game ที่บางฉากมีความรุนแรง อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ด้านที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตระบุภาพหรือเนื้อหารุนแรงอาจมีผลต่อจิตใจผู้ที่อ่อนไหวมาก ขณะที่นักอาชญาวิทยาอ้างอิงงานวิจัยว่าเป็นไปได้ แต่มีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง

Squid Game เป็นซีรีส์เกาหลี มี 9 ตอน ฉายใน Netflix แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงออนไลน์ ต้องเสียเงินสมัครเป็นสมาชิกถึงจะดูได้ โดยในซีรีส์เป็นเรื่องของคนกว่า 400 คน ซึ่งล้วนเป็นคนที่มีหนี้สิน มีปัญหาชีวิตหนักๆ ต้องการใช้เงิน ถูกชวนมาเล่นเกมชิงเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน คิดเป็นเงินไทยกว่า 1,200 ล้านบาท ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียว ส่วนคนที่แพ้ต้องเสียชีวิต

ภาพที่ปรากฎในซีรีส์ บางตอนมีการยิงคนแพ้ หรือคนแพ้จะตกจากที่สูงเสียชีวิต ทั้งๆ ที่เกมเป็นเกมเด็กเล่น เกมพื้นบ้าน เช่น เอ อี ไอ โอ ยู, ชักเย่อ, เกมแกะขนมน้ำตาล ทุกเกมมีความตื่นเต้นเร้าใจ สลับกับฉากระทึกขวัญที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้โด่งดังได้รับความนิยมไปทั่วโลก

 

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนว่า Squid Game นำเสนอเนื้อหา ภาพ เสียงและพฤติกรรมรุนแรง มีทั้งฉากทำร้ายร่างกายผู้อื่น ฉากผ่าศพ ฆ่าผู้อื่น เพื่อแก่งแย่งแข่งขันและเอาตัวรอด อาจส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ ทำให้ผู้รับชมมีพฤติกรรมรุนแรง หรือจินตนาการว่าอยู่ในสถานการณ์เดียวกับในซีรีย์ จนอาจเกิดเป็นอาชญากรรม โดยเฉพาะเด็กหรือเยาวชน ผู้ปกครองจึงต้องคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ในมุมมองจิตวิทยา นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ต่างจากภาพยนตร์ กำหนดกลุ่มผู้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งแพลตฟอร์มที่ออกอากาศมีกรองผู้ชมมาแล้วระดับหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่จะรับชมได้ต้องเป็นสมาชิก ผ่านการกรอกอายุในการลงทะเบียน แต่หากไม่ได้เป็นสมาชิก แล้วอายุต่ำกว่า 18 ปีมาดู โดยไม่มีผู้ปกครองแนะนำ ในฉากที่มีการฆ่ากันก็น่าเป็นห่วง

 

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ชมแต่ละคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สภาพจิตใจแตกต่างกัน ดังนั้นหากเป็นคนที่อ่อนไหวมากๆ จิตใจไม่เข้มแข็งพอ เมื่อดูเนื้อหาหรือเห็นภาพความรุนแรงอาจจะส่งผลต่อจิตใจได้

ด้าน รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ที่ผ่านมามีงานวิจัยที่มีข้อสรุปว่า ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาการแข่งขันหรือต่อสู้ด้วยความรุนแรง อาจจะส่งผลให้ผู้รับชมในกลุ่มเยาวชนแสดงออกด้วยพฤติกรรมด้านความรุนแรงจริง แต่ไม่ได้เกิดจากภาพยนตร์ทั้งหมด อาจจะมีปัจจัยอื่นกระตุ้น เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว สภาพสังคมโดยรอบ

อย่างไรก็ตาม Squid Game เป็นความตั้งใจของ ฮวังดงฮยอก ผู้กำกับซีรีส์เรื่องนี้ ที่ต้องการจะนำเสนอเรื่องการแสวงประโยชน์จากผู้อ่อนแอ เปิดเผยปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความโลภ ความขัดแย้งด้านศีลธรรม ซึ่งทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบเซอไวเวิลเกมส์ แต่มีบางฉากและเนื้อหาที่สะท้อนความรุนแรงชัดเจน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง