วันนี้ (26 ต.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานพบถุงมือผ้าที่ใช้งานแล้วจากประเทศไทยส่งไปยังสหรัฐอเมริกา นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะหากผู้ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป แบนประเทศไทย
ปัญหานี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย ไม่ใช่แค่ไทย และสมาคมฯ เคยรายงานเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่มีการนำไปขยายผลต่อ แต่ผลกระทบต่อผู้ผลิตรายใหญ่คงไม่มาก เพราะมีความน่าเชื่อและคู่ค้าสั่งซื้อมานาน แต่ผู้ผลิตรายเล็กหรือรายใหม่อาจมีผลกระทบ เพราะต่างประเทศจะเข้มงวดหรือจับตาเป็นพิเศษ
นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ระบุอีกว่า รัฐบาลต้องจับมิจฉาชีพตัวจริง แต่ไม่ใช่เข้มงวดหรือควบคุมผู้ผลิตที่มีมาตรฐานสูง ควรตรวจสอบบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งช่วงเกิดโควิด-19 หรือจดทะเบียนไม่เกิน 1-2 ปี ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าคนกลาง พร้อมแนะนำว่าผู้ผลิตถุงมือยางที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ มีมาตรฐานการผลิตและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ผลิตถุงมือยางต่อเนื่อง คู่ค้าสามารถตรวจสอบรายชื่อผ่านเว็บไซต์สมาคมฯ ได้
สอบส่งออกถุงมือยาง ถกนัดแรก 27 ต.ค.นี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เปิดเผยว่า จะเรียกประชุมนัดแรกวันที่ 27 ต.ค.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเริ่มตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินการในช่วงต่อไป และจะสรุปให้ได้เร็วที่สุด
ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่ามีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ขอให้รอผลการหารือ และเมื่อตรวจสอบจนมีความชัดเจน จะช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
ขณะที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ปัญหานี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกถุงมือยางของไทย เพราะเป็นเรื่องเฉพาะราย
สำหรับยอดส่งออกถุงมือยางไปตลาดสหรัฐ 8 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่า 1,093 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 133.96% และคาดว่าภาพรวมส่งออกถุงมือทุกตลาดทั้งปีนี้ จะขยายตัวเกิน 100% ซึ่งตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย
อ่านข่าวอื่นๆ
CNN ตีแผ่ปมบริษัทไทยส่งออกถุงมือยางใช้แล้วไปสหรัฐฯ
"จุรินทร์" ปฏิเสธตอบนักการเมืองเอี่ยวส่งออกถุงมือยางใช้แล้ว
สำรวจโกดังผลิตถุงมือยางใช้แล้วส่งออก ตปท. - ล่าสุดส่งคดีให้อัยการสั่งฟ้องแล้ว