คอซีรีส์-หนังออนไลน์สายอยากดูแต่ไม่อยากจ่ายแพงดันยอด "ร้านหารจอ" คึกคัก

Logo Thai PBS
คอซีรีส์-หนังออนไลน์สายอยากดูแต่ไม่อยากจ่ายแพงดันยอด "ร้านหารจอ" คึกคัก
เปิดธุรกิจ "หารจอ" ดูหนัง-ซีรีส์ออนไลน์คึกคัก สำหรับสายชอบดูแต่ไม่อยากจ่ายแพง ราคาต่อเดือนแค่หลักสิบสะท้อนขาขึ้นแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง ด้านนักการตลาดชี้อาจส่งผลกระทบต่อโรงหนังที่ต้องปรับกลยุทธ์หลังโควิด

#หารnetflix  #หารยูทูปพรีเมี่ยม #หารwetvราคาถูก #หารmonomax #หารiQiyi

#หาร... กลายเป็นแฮชแท็กที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์หลายครั้ง และโผล่ขึ้นมาบ่อย ๆ เมื่อจะมองหาหนังดัง ซีรีส์เด็ดในทวิตเตอร์ เช่นเดียวกับร้านรับหารจอสำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิงก็เริ่มผุดให้เห็นเพิ่มมากขึ้นไม่ต่างกัน ไทยพีบีเอสออนไลน์ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ร้านค้าในโลกออนไลน์เหล่านี้ เปิดรับหารจอหลากหลายแพลตฟอร์มสตรีมมิงทั้งไทยและต่างชาติในราคาหลักสิบ 


หากลูกค้าสนใจ จะมีการส่งเลขบัญชีให้โอนเงินค่าบริการก่อน จากนั้นทางร้านจะส่งอีเมล์และพาสเวิร์ดสำหรับเข้าชมแพลตฟอร์มสตรีมมิงนั้น ๆ ให้ พร้อมข้อความกำชับเป็นพิเศษเกี่ยวกับการหารจอร่วมกับผู้ใช้บริการคนอื่น 

การหารจอร่วม ถ้าเด้งออกจากระบบเป็นเรื่องปกติ รับรหัสแล้วไม่คืนเงินทุกกรณี ถ้าไม่อยากมีปัญหาตอนดูวีไอพีให้ดาวน์โหลดเก็บไว้ ประวัติการดูอาจทับซ้อนกันแนะนำให้ดูจบเป็นตอน ๆ ถ้าขึ้นจำนวนอุปกรณ์เกินให้รอ 20-30 นาที แล้วค่อยล็อกอินใหม่ 

คำแนะนำเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในข้อจำกัดที่ลูกค้าอาจต้องพบเมื่อยอมรับบริการหารจอร่วมกับคนอื่นแลกกับการจ่ายที่น้อยกว่าการสมัครผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงเองกว่า 10 เท่า ยกตัวอย่าง แพลตฟอร์มสตรีมมิงสำหรับคอซีรีส์จีนอย่าง WETV ราคาเริ่มต้นที่ 89 บาทต่อเดือน 


ปกติ WETV มีกำหนดให้รับชมซีรีส์ผ่านจอพร้อมกันได้ไม่เกิน 2 เครื่อง ซึ่งร้านค้าในทวิตเตอร์รับเปิดหารจอในราคา ตั้งแต่ 10 - 20 บาทต่อคนต่อเดือน หากจะให้คุ้มก็จำเป็นต้องมีลูกค้าที่ใช้อีเมล์และรหัสเดียวกันในการเข้ารับชม 4-6 คน ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมร้านค้าต้องแจ้งเตือนข้อจำกัดให้ลูกค้าก่อนเข้ารับบริการ

ธุรกิจหารจอ สะท้อนตลาดสตรีมมิงขาขึ้น

ร้านค้าหารจอที่เพิ่มขึ้นทุกวัน สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 ซึ่งพบว่า กิจกรรมที่คนไทยทำบนโลกออนไลน์อย่างการดูโทรทัศน์/ดูหนัง/ฟังเพลงออนไลน์มีการปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน จาก 71.2% เป็น 85% และถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมอันดับ 2 ที่คนไทยทำบนโลกออนไลน์ และยังคงมีอัตราเติบโตสูงขึ้นทุกปี


ขณะที่ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ โกศการิกา อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า ตลาดวิดีโอสตรีมมิงในไทยถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมี COVID-19 มีเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และร้านค้าหารจอที่เพิ่มขึ้นในโซเชียลก็สะท้อนถึงดีมานด์ (demand) ของลูกค้าที่ต้องการดูหนังหรือซีรีส์ในราคาที่ถูก

คนไทยอยู่กับยูทูบที่ให้ดูหนัง-ฟังเพลงได้ฟรีมานาน ทำให้หลายคนเคยชินกับการดูโดยไม่ต้องจ่าย แต่เมื่อมีข้อกำหนดให้ต้องจ่าย ร้านค้าหารจอก็กลายเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มาก จนมีร้านหารจอเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จับตา! สงครามสตรีมมิง-โรงหนังหลังโควิด

เมื่อตลาดสตรีมมิงโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลายคนอาจเริ่มตั้งคำถามว่านี่อาจเป็นทางตันของโรงหนังหรือไม่ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หากจะเทียบกันด้วยข้อมูลอาจจะยังทำไม่ได้ เพราะคนไม่ไปดูหนังเนื่องจากมาตรการป้องกันโรคระบาด ไม่ใช่เพราะไม่อยากไป แต่หากจะให้ประเมินด้วยหลักการตลาดและเรื่องแบรนดิงต้องยอมรับว่า แพลตฟอร์มสตรีมมิง และโรงหนัง​ กลุ่มลูกค้ามีวัตถุประสงค์ของการใช้บริการที่แตกต่างกัน เพราะวัตถุประสงค์ของการดูแพลตฟอร์มสตรีมมิง จะให้น้ำหนักไปในเรื่องของคอนเทนต์ แต่ในขณะที่วัตถุประสงค์ของการใช้บริการโรงหนัง จะให้น้ำหนักไปในเรื่องของประสบการณ์ในการชมภาพยนต์ควบคู่ไปกับคอนเทนต์


ผศ.ดร.ศิริรัตน์ จึงมองว่า อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่โรงหนังจะเดินมาถึงทางตัน เพราะหลายคนยังต้องการเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ดูหนังในโรงอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือ โรงหนังอาจต้องปรับตัวมากขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนบริการให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และสร้างความประทับใจว่า เขาจ่ายเงินมาแล้วได้ประสบการณ์ที่พิเศษ ซึ่งบางโรงก็เริ่มปรับตั้งแต่เก้าอี้ที่ทำเป็นเตียงนอน หรือ โรงหนังสำหรับเด็ก ซึ่งจะช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้

 
ส่วนตลาดสตรีมมิงเองก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน ท่ามกลางแพลตฟอร์มสตรีมมิงหน้าใหม่ที่กระโดดเข้ามาในสงครามครั้งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการผลิตคอนเทนต์เอ็กคลูซีฟที่รับชมที่อื่นไม่ได้ เป็นจุดขายสำคัญของวิดีโอสตรีมมิงที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าจ่ายแล้วคุ้ม

คนอาจจะเบื่อกับการจ่ายเงิน เพราะยังมีบางพื้นที่ให้ดูฟรี หรือบางแอปฯ มีฟังชันก์ให้ดูฟรีแต่ต้องรอนานกว่า VIP ซึ่งบางคนก็พร้อมจะรอได้ ดังนั้น แพลตฟอร์มสตรีมมิงเองก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องของราคาที่ควรจะเข้าถึงได้


อย่างไรก็ตาม อาจต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ตลาดแพลตฟอร์มสตรีมมิงและโรงหนังจะเป็นอย่างไรต่อไปหลังสถานการณ์ COVID-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย แต่สุดท้ายทั้งสตรีมมิงและโรงหนังอาจเติบโตควบคู่กันไปได้ด้วยการดึงจุดขายของตัวเองมาสนับสนุนกันและกัน เช่น โรงหนังฉายหนังจบในโรง แต่อาจจับมือกันเพื่อประชาสัมพันธ์ให้มาดูกันต่อเป็นซีรีส์ในสตรีมมิงก็เป็นไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง