วันนี้ (28 ม.ค.2565) ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เตือน "อย่ากินไส้กรอกจากแหล่งที่มาไม่แน่ชัด" หรือ ไม่น่าเชื่อถือ โดยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเด็กป่วยด้วยภาวะ "เมทฮีโมโกลบิน" (Methemoglobin) จำนวน 6 คน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 คน, เพชรบุรี 1 คน, สระบุรี 1 คน, ตรัง 1 คน, กาญจนบุรี 1 คน
โดยทั้งหมดมีประวัติกินไส้กรอก ซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มีเอกสารกำกับ อาการของผู้ป่วย คือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ เหนื่อย หายใจเร็ว ตัวเขียว ระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำ ในขณะนี้ยังไม่มีรายใดที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต
นอกจากนี้ยังได้อธิบายภาวะ "เมทฮีโมโกลบิน" ว่า เป็นภาวะที่ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดช์โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ กลายเป็น เมทฮีโมโกลบิน ทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน และสีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ
ผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ตัวเขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำและเสียชีวิตได้
"สารออกซิแดนท์" ที่อาจมีการเติมในไส้กรอกหรืออาหารแปรรูป คือ สารตระกูล "ไนเตรท" และ "ไนไตรท" ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547) ได้กำหนดปริมาณที่อนุญาตให้ใช้โซเดียมไนไตรทและโซเดียมไนเตรทในอาหารได้ไม่เกิน 125 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ
กรณีที่ใช้ทั้งโซเดียมไนไตรต์และโซเดียมไนเตรต ให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ในการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจมีการเติมสารไนเตรทมากกว่าปกติ หรืออาจผสมไม่ดี ทำให้มีบางส่วนมีปริมาณสารสูงเกินกว่าที่ควรได้ จึงเตือนให้เฝ้าระวังการบริโภคไส้กรอก จากแหล่งที่ไม่แน่ชัด และไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากเด็กจะไวต่อสารกลุ่มนี้มากกว่าผู้ใหญ่ หากมีอาการผิดปกติควรไปตรวจที่โรงพยาบาล
สำหรับการรักษาในรายที่รุนแรงอาจพิจารณาใช้ยา methylene blue (มีในระบบยาต้านพิษ) ส่วนผู้ป่วยบางรายอาจมีเม็ดเลือดแดงแตกรุนแรงจากการได้รับสารออกซิแดนท์ร่วมด้วยต้องมีการติดตามระดับเกลือแร่ ให้สารน้ำและเลือดทนแทน
ขณะนี้ทางศูนย์ฯ ประสานกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อดำเนินการสืบค้นแหล่งที่มาของการระบาดเพิ่มเติมแล้ว
แท็กที่เกี่ยวข้อง: