รู้ทัน "หัวใจวายเฉียบพลัน" เร่งตรวจ-รักษาก่อนจะสายไป

สังคม
14 ก.พ. 65
15:10
531
Logo Thai PBS
รู้ทัน "หัวใจวายเฉียบพลัน" เร่งตรวจ-รักษาก่อนจะสายไป
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน เกิดจากเส้นเลือดตีบตัน ซึ่งเสื่อมไปตามวัยและจากพฤติกรรม พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พร้อมเตือนผู้ที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตกะทันหัน ตั้งแต่อายุยังน้อยและยีนส์ผิดปกติ เร่งตรวจและรักษาก่อนจะสายเกินไป

วันนี้ (14 ก.พ.2565) โรงพยาบาลเมดพาร์ค จัดงานเสวนา เรื่อง รู้ทัน ป้องกันได้ "หัวใจวายเฉียบพลัน" ภัยเงียบร้ายแรงไร้สัญญาณเตือน ทางแอปพลิเคชันซูม โดย นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านหัวใจและทรวงอก เปิดเผยว่า ภาวะกล้ามเนื้อตายเฉียบพลัน เกิดจากเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน หรือตีบเล็กน้อย แน่นหน้าอก และหัวใจวาย หากมีอาการเพียงแน่นหน้าอก อาจสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที

สาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดตีบตัน เสื่อมไปตามวัย ส่วนใหญ่เกิดจากจากพฤติกรรม จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง รวมถึงจากอายุและกรรมพันธุ์ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ การมีความรู้จะช่วยให้หนักเป็นเบา เลี่ยงทานอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ อาหารที่มีไขมันและมันจะทำให้โรคหัวใจได้ง่าย หากกินแล้วไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และมีโรคประจำตัวอย่างความดันโลหิต เบาหวาน และไขมันในเลือด

ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงและควรมาตรวจโรคหัวใจ คือ 1.โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเสียชีวิต แม้ว่าจะมีอายุน้อย และมีคนในครอบครัวเสียชีวิตกะทันหัน ตั้งแต่อายุยังน้อย และ 2. โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ มียีนส์ผิดปกติ เส้นเลือดเสื่อมเร็วกว่าวัย ซึ่งชนิดกรรมพันธุ์ แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1.ยีนส์เดี่ยว เคยพบในเด็ก อายุ 9 ปี ปั๊มหัวใจขึ้นมาทำบายพาสและยังมีชีวิตอยู่ โอกาสพบ คือ 1 ใน 500 คน

และ 2. 50 ยีนส์ ไม่มีเส้นเลือดใดตีบเร็วกว่าวัย จากการศึกษา คนที่มี 1-17 ยีนส์ และ 35-50 ยีนส์ ซึ่งมีโอกาสหัวใจวายมากกว่าแบบแรก 2 เท่า แต่สามารถป้องกันได้ โดยเปลี่ยน 4 ไลฟ์สไตล์ ได้แก่ 1.ห้ามอ้วน ดัชนีมวลกายต้องน้อยกว่า 30 2.ห้ามสูบบุหรี่ 3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และ 4. ทานอาหารที่มีกากใยเยอะ

ขณะที่การรักษามี 3 แบบ คือ 1.ทานยา 2.ทำบอลลูน 3.ทำบายพาส สำหรับการทำบอลลูน หากเส้นเลือดยังไม่พังมาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ประมาณ 200,000-300,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่คนไข้และความยากง่าย

นพ.ชาติ วานิชสวัสดิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า การทำบายพาสหัวใจ การผ่าตัดยาก ต้องนำเส้นเลือกจากขาและแขนมาต่อเส้นเลือดหัวใจ แต่จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้การผ่าตัดอันตรายน้อยลง ใช้เวลาพักฟื้น 2-3 วัน สามารถกลับไปทำงานใน 1 เดือน และกลับมาแข็งแรงปกติใน 3 เดือน ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ประมาณ 800,000-1,000,000 บาท

ด้าน พญ.จิรภา แจ่มไพบูลย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยระบบหัวใจ และหลอดเลือด กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถออกกำลังกายได้ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ อย่างน้อย 30 นาที หรือจะแบ่งเป็น 5-10 นาที ในช่วงเช้าและเย็น ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังออกกำลังกายด้วย

หรือออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน สัปดาห์ละ 2 วัน จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ฝึกหายใจ ซึ่งการออกกำลังจะช่วยลดการกลับมานอนโรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง