DNA คนโบราณถ้ำย่าป่าแหน โยง "กลุ่มชาติพันธุ์" ในไทย

Logo Thai PBS
DNA คนโบราณถ้ำย่าป่าแหน โยง "กลุ่มชาติพันธุ์" ในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัย เผยผลตรวจดีเอ็นเอคนโบราณ อายุ 1,600-1,800 ปี ถ้ำย่าป่าแหน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน พบความสัมพันธ์เครือญาติ 3 ครอบครัว ใกล้เคียงกลุ่มที่พูดภาษาออสโตเอเชียติค กลุ่มย่อย "Palaungic" กลุ่มชาติพันธุ์ว้า ปะหล่อง ปลัง

รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจดีเอ็นเอในแหล่งโบราณคดี อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ว่า ในช่วงเริ่มต้นได้ใช้ตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นได้ขยายการศึกษาไปยังถ้ำอื่น ๆ ขณะนี้ตัวอย่างที่ได้มากที่สุดมาจากถ้ำย่าป่าแหน 1 และถ้ำย่าป่าแหน 2

ทั้งนี้ ได้นำตัวอย่างฟันและกระดูกหู 70 กว่าตัวอย่างไปตรวจที่เยอรมนี ได้ผลดีเอ็นเอ 30 กว่าตัวอย่าง โดยผลการศึกษาออโทโซม พบความสัมพันธ์ระดับเครือญาติ 3 ครอบครัว เป็นพ่อแม่พี่น้อง และมีญาติกันอาศัยคนละถ้ำ ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาถึงรุ่นหลาน

เป็นครั้งแรกที่หาความสัมพันธ์ในครอบครัวได้มากกว่า 1 ครอบครัวในถ้ำที่ปางมะผ้า และพบตัวอย่างจากถ้ำย่าป่าแหน 1 และถ้ำย่าป่าแหน 2 ที่เป็นญาติกัน สะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ในอดีตของคนโบราณแต่ละถ้ำ

 

รศ.ดร.วิภู ยังได้นำตัวอย่างดีเอ็นเอโบราณที่ อ.ปางมะผ้า อายุ 1,600-1,800 ปี ไปเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอโบราณที่บ้านเชียง ซึ่งอายุ 3,000 ปี พบว่า ดีเอ็นเอที่ปางมะผ้ามีสัดส่วนพันธุกรรมจากจีนตอนเหนือ 50% แต่ไม่พบในบ้านเชียง ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดคนโบราณที่ปางมะผ้าได้รับยีนส์ หรือดีเอ็นเอจากจีนตอนเหนือ และสัดส่วนของยีนส์ดังกล่าวมาอยู่ที่ปางมะผ้าตั้งแต่เมื่อใด

การเปรียบเทียบสะท้อนว่าปางมะผ้าและบ้านเชียงมีบรรพบุรุษ การอพยพที่แตกต่างกัน

ขณะที่การเปรียบเทียบดีเอ็นเอในแหล่งโบราณคดีปางมะผ้ากับคนในปัจจุบัน ขณะนี้มีฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ 75 กลุ่ม ช่วงแรกเปรียบเทียบกับ 6 กลุ่ม คือ ลีซู ลาหู่ กะเหรี่ยง ม้ง ไทใหญ่ ละว้า ถือว่าละเอียดที่สุดในการเปรียบเทียบดีเอ็นเอคนโบราณ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มชาติดังกล่าวที่อยู่รอบปางมะผ้า ไม่มีดีเอ็นเอคล้ายกับดีเอ็นเอโบราณที่ได้ศึกษา

ถ้ำย่าป่าแหน 1

ถ้ำย่าป่าแหน 1

ถ้ำย่าป่าแหน 1

 

แต่เมื่อเปรียบเทียบภาพกว้างของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยที่มีโครงสร้างพันธุกรรมคล้ายดีเอ็นเอโบราณดังกล่าว พบว่า "มี" แต่ไม่สามารถระบุชาติพันธุ์ได้ เพราะมีหลายกลุ่มที่ลักษณะเหมือน โดยมีความใกล้เคียงกับประชากรปัจจุบันที่พูดภาษา "ออสโตเอเชียติค" กลุ่มย่อย "Palaungic" รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ละว้า ปะหล่อง ปลัง ซึ่งเป็นกลุ่มออสโตเอเชียติคที่กระจายตัวในภาคเหนือของไทย รัฐฉานของเมียนมา และตอนใต้ของจีน

คนที่พูดออสโตเอเชียติค กลุ่ม Palaungic มีดีเอ็นเอใกล้คนโบราณมากที่สุด
ถ้ำย่าป่าแหน 2

ถ้ำย่าป่าแหน 2

ถ้ำย่าป่าแหน 2

 

ขณะที่ในอนาคตอาจต้องเพิ่มเครื่องหมายทางพันธุกรรมมากขึ้น และเพิ่มฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบัน เพื่อตอบคำถามว่าคนโบราณมีความสัมพันธ์กับคนในปัจจุบันกลุ่มใด หรือพูดภาษาอะไร

รศ.ดร.วิภู ยังกล่าวถึงการส่งตัวอย่างของดีเอ็นเอคนโบราณที่ถ้ำลอด อายุ 13,000-8,000 ปี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก็บของป่า ล่าสัตว์ ยังไม่มีการใช้เหล็ก สำริด แต่ตัวอย่างในไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา ขณะนี้ดีเอ็นเอที่สกัดได้และมีอายุเก่าที่สุดอยู่ในลาว อายุ 7,500 ปี

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตสามารถสกัดดีเอ็นเอที่พบในไทยได้สำเร็จ ก็จะมีอายุเก่าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขณะนี้พยายามพัฒนาเทคนิคทางวิทยาศาสตร์

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิจัยโบราณคดีสู่บอร์ดเกม "นักสืบของอดีต" รู้เรื่องราวกลุ่มชาติพันธุ์ 

ปักหมุด "แม่ฮ่องสอน" ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-โบราณคดี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง