วันนี้ (4 เม.ย.2565) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) โดยกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 31 มี.ค.- 4 เม.ย.2565 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. รวม 31 คน ส่วนการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิก ส.ก. มีผู้สมัครรวม 382 คน
หลังจากปิดรับการสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิก ส.ก. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจะตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดรับสมัคร คือวันที่ 11 เม.ย.2565 ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และข้อ 97 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 รวมทั้งหลังจากประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว หากผู้สมัครไม่มีรายชื่อสามารถยื่นคัดค้านได้ภายใน 3 วัน คือวันที่ 14 เม.ย.2565
สำหรับผู้สมัครที่ต้องการจัดทำประกาศ หรือแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง สามารถจัดทำได้ ดังนี้
- ประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ขนาดความกว้างไม่เกิน 30 ซม. และยาวไม่เกิน 42 ซม. จำนวนไม่เกิน 10 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง
- ป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ขนาดความกว้างไม่เกิน 130 ซม. และยาวไม่เกิน 245 ซม. จำนวนไม่เกิน 5 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง
พร้อมขอความร่วมมือผู้สมัครรับเลือกตั้งในเรื่องการปิดประกาศและการติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นได้ประกาศกำหนด เช่น โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือยานพาหนะ รวมถึงไม่กีดขวางทางสัญจร-การจราจรด้วย
หาเสียงออนไลน์ได้ถึง 18.00 น.วันที่ 21 พ.ค.
นอกจากนี้ ผู้สมัครสามารถดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูป แอปพลิเคชัน อีเมล์ SMS หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นๆ ได้จนถึงเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง หรือเวลา 18.00 น.วันที่ 21 พ.ค.2565
ขณะที่การดำเนินการเลือกตั้งภายหลังปิดรับสมัคร กกต.กทม. จะเข้ามากำกับดูแลให้การเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ตามที่ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 27 กำหนด ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
- เสนอแนะและให้ความเห็นชอบการกำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง และการแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งของ ผอ.การเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- กำกับดูแลและอำนวยการการเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนนเลือกตั้ง และการประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง
- กำหนดสถานที่รวบรวมผลคะแนน และรวบรวมผลคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้ง และรายงานผลการเลือกตั้งต่อ ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด
นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นผู้ช่วยเหลือในการปฏิบัติงานในการเลือกตั้งได้ตามสมควร ซึ่งจะมีการแต่งตั้งบุคลากรของ กทม.ทั้งส่วนกลางและเขต ร่วมเป็นเจ้าหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการต่อไป
อ่านข่าวอื่นๆ
สนามชิง "ผู้ว่าฯ กทม." คึกคัก ผู้สมัครเดินสายเรียกคะแนน
เวทีแรก! หลังได้เบอร์ ดีเบต 5 ผู้สมัคร ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. 100 วันแรกทำอะไร?
เปิดตัวเบอร์ 5 สมัครผู้ว่าฯ กทม. "วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ" คนที่นักข่าวถามว่า “คือใคร”
แท็กที่เกี่ยวข้อง: