ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เน้นสร้างโอกาส-หนุนคนพิการ-ทำให้เมืองปลอดภัย

การเมือง
6 เม.ย. 65
13:25
387
Logo Thai PBS
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เน้นสร้างโอกาส-หนุนคนพิการ-ทำให้เมืองปลอดภัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 6 คน ประกาศนโยบายหนุนสร้างรัฐสวัสดิการ เดินหน้าสร้างโอกาสให้คนพิการ ผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ ในกรุงเทพฯ และทำให้เป็นเมืองปลอดภัย หวังเห็นความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

วันนี้ (6 เม.ย.2565) ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ ถ.พญาไท มีการจัดเสวนา แถลงนโยบายสังคมของผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. “เสียงของผู้หญิง 2.3 ล้าน ชี้ขาดใครคือผู้ว่าฯ กทม.” โดยมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เข้าร่วมได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขคณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคก้าวไกล นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัคร หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 และ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย

ผู้สมัครแต่ละคน ร่วมกันแถลงนโยบาย และรับฟังปัญหาจากภาคประชาสังคมเครือข่ายต่าง ๆ เช่น เครือข่ายกลุ่มสตรีและผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายคนพิการ กลุ่มเด็กเล็ก เป็นต้น

โดยตัวแทนเครือข่ายแต่ละกลุ่ม ร่วมการสะท้อนปัญหาทางสังคม หวังให้ ผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ เข้ามาแก้ไข เช่น การเรียกร้องพัฒนาพื้นที่สาธารณะของ กทม. ให้มีความสะดวก ปลอดภัย รองรับกับคนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้พิการ สตรี และ ผู้สูงอายุ, จัดหางานทำให้กับผู้พิการ ได้มีโอกาสในการสร้างรายได้, แก้ไขปัญหา เศรษฐกิจปากท้องลดค่าครองชีพให้คนกรุง และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพฯ มากขึ้น

“สกลธี” เน้นแก้ปัญหาสังคม-ผู้สูงอายุ-คนพิการ

นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 ระบุว่า ปัญหาสำคัญคือ การจัดสรรงบประมาณ ที่ปัจจุบันมีการจัดสรรงบประมาณในการดูแล ปัญหาทางสังคม เพียง 200 ล้านบาท ทั้งที่งบประมาณของกรุงเทพมหานคร มีมากถึงปีละ 80,000 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อปัญหาในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร

หากตนได้เป็นผู้ว่าฯ จะเข้ามาจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ และความปลอดภัยในที่สาธารณะ

นอกจากมีหลายนโยบาย ยังคำนึงถึงผู้สูงอายุเป็นหลัก เนื่องจากกรุงเทพมหานคร เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จำเป็นต้องปรับการให้บริการสาธารณสุข ที่มีความสะดวกและทันสมัย มีระบบดูแลผู้สูงอายุติดเตียง ที่สำคัญคือการให้โอกาสผู้สูงอายุได้มีงานทำ

 

ส่วนการดูแลคนพิการ นายสกลธีระบุว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ได้มีการผลักดันจ้างงานคนพิการ เข้ามาทำงานในสำนักงานเขตต่าง ๆ มากกว่า 300 ตำแหน่ง โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา

นอกจากนี้ยังได้ผลักดันให้มีโรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการ เกิดขึ้นที่เขตหนองจอก ทำให้คนพิการมีความรู้ความสามารถ ในการสร้างอาชีพมากขึ้น ปัจจุบันมีเว็บไซต์สำหรับหางานให้กับคนพิการ เพื่อเปิดให้หน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน เข้ามาจ้างงานคนพิการมากขึ้นด้วย

“รสนา” เดินหน้าติดกล้อง CCTV ให้ความปลอดภัย

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 กล่าวว่า นโยบายด้านสังคมที่สำคัญคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชน ให้ความสำคัญตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งเสียชีวิต แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้ผู้หญิงได้มีความเท่าเทียมและมีความปลอดภัย

ผลักดันให้มีการติดกล้อง CCTV อย่างครอบคลุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างในคดีของแตงโม นิดา ที่เสียชีวิตทางน้ำ และหมอกระต่ายที่เสียชีวิตบริเวณทางม้าลาย แต่กรุงเทพมหานครกลับไม่มีกล้อง CCTV ที่จะอธิบายสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะกรณีของแตงโม ที่จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือเกิดจากการฆาตกรรม จึงจำเป็นจะต้องติดตั้ง CCTV ให้ครอบคลุมทั้งทางบกและทางน้ำ นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการกระจายงบประมาณ 50 ล้าน 50 เขต สำหรับดูแลปัญหาระบบสาธารณูปโภคให้กับประชาชนในพื้นที่

“อัศวิน” ให้ความสำคัญผู้สูงอายุ-คนพิการ

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 ยืนยันว่า ตลอด 5 ปี ของการเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุ มีการสร้างสถานที่ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในเขตคลองสามวา และพัฒนาโครงการรถตู้สำหรับผู้สูงอายุ มาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตจะพัฒนา รถตู้ขนส่งผู้สูงอายุ ให้เปลี่ยนรถพลังงานไฟฟ้า EV ด้วย

 

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศ และผู้พิการยืนยันว่า ที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ผู้พิการได้มีงานทำมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนในกรุงเทพมหานคร

ส่วนเรื่องความรุนแรงทางเพศ พล.ต.อ.อัศวิน มองว่า ควรให้ความสำคัญ ตั้งแต่ในโรงเรียน เพราะยังมีปัญหาตอนนี้ครอบครัวหลายครอบครัวไม่ให้ความสำคัญ จำเป็นต้องส่งเสริมให้ครอบครัวและโรงเรียนร่วมกันช่วยแก้ไข

“วิโรจน์” เพิ่มสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ-หนุนคนรุ่นใหม่

นายวิโรจน์ ลักขคณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 มองว่า ปัญหาของกรุงเทพคือการมีกติกาที่ไม่เป็นธรรม ทำให้คนกรุงเทพตกอยู่ในมายาคติ สู้แล้วรวย เหมือนหลอกให้ผู้คน กระโดดลงไปในแม่น้ำที่เชี่ยวกรากแล้วล้มตายจำนวนมาก

สิ่งสำคัญคือควรต้องเพิ่มสวัสดิการ ให้คนในสังคม เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมือง สวัสดิการ ไม่ใช่เมืองสงเคราะห์ มีการดูแลผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถวิ่งตามความฝันได้อย่างเต็มที่

 

นายวิโรจน์ยืนยันว่า หากสามารถสร้างรัฐสวัสดิการในกรุงเทพฯ ได้ จะเป็นการจุดประกายกดดันให้รัฐบาลกระจายรัฐสวัสดิการ ไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และจะมีการเพิ่มสวัสดิการเพื่อทำลายสถิติ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นจำเป็นที่วันนี้ต้องเริ่มที่กรุงเทพมหานคร สร้างโอกาสให้กับคนกรุงเทพฯ ให้พ้นกับดักความยากจน มีรายได้ที่มั่นคง และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

หากยังปล่อยกรุงเทพฯ อยู่อย่างนี้ อนาคตจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่ไม่มีเงิน เยาวชนที่โตมาในสังคมแบบนี้ ก็จะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความหวัง ไม่มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง ไม่มีโอกาสที่จะตั้งตัวได้ แบบนี้อนาคตกรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองต้องสาปใช่หรือไม่ ตนจึงต้องการให้ทุกคนได้เห็นปัญหาภาพใหญ่ ก่อนจะลงลึกไปถึงภาพย่อย

“ศิธา” เน้นดูแลเด็ก-สตรี-คนพิการ

ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11 กล่าวว่า สิ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอคือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ที่ผ่านมาการบริหารจัดการงบประมาณ และการดูแลเรื่องต่าง ๆ กลับทิ้งคนพิการไว้ข้างหลัง ทั้งที่ความคิดความอ่านของคนพิการไม่ได้ด้อยไปกว่าคนปกติ แต่ที่ผ่านมารัฐบาล และ กทม. ไม่เคยให้ความสำคัญ

ดังนั้นหากได้เป็น ผู้ว่าฯ กทม. ตนมีนโยบายดูแลกลุ่มเด็กสตรีและผู้พิการ ได้มีโอกาสอย่างเท่าเทียม พัฒนาให้เด็กในกรุงเทพมีศักยภาพ สามารถเติบโตในเวทีโลกได้ การยกระดับให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ได้มาตรฐานระดับโลก ลงทุนให้ โรงเรียนของ กทม. ทุกโรงเรียนมีคุณภาพทัดเทียมกับเอกชน ส่วนคนตัวเล็กหาบเร่แผงลอย และผู้ใช้แรงงาน จะทำให้มีโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง