วันนี้ (30 พ.ค.2565) นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ไบโอเทค โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความส่วนหนึ่งว่า ไวรัสฝีดาษลิง มีสารพันธุกรรมเป็น DNA ซึ่งแตกต่างจาก ไวรัสโรคโควิด-19 ซึ่งเป็น RNA การเปลี่ยนแปลงของ DNA เปลี่ยนยากกว่า RNA มาก ทำให้ไวรัสในกลุ่มนี้ มักมีลำดับพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงช้า ปกติจะพบการเปลี่ยนแปลงประมาณ 1 ตำแหน่งต่อปีเท่านั้น
แต่ผลการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดในหลายประเทศตอนนี้พบว่า มีความแตกต่างจากเมื่อ 4 ปีก่อน ใน สหราชอาณาจักร (UK) สิงคโปร์ และ อิสราเอล ถึง 40 ตำแหน่ง แสดงว่าตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าไวรัสปกติถึง 10 เท่า
ขณะนี้ยังไม่มีใครมีคำตอบที่แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับไวรัสฝีดาษลิง ปี 2022 แต่มีสมมติฐานที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปแบบเดียวกัน เป็นแบบจำเพาะเจาะจงมาก การเปลี่ยนลักษณะนี้มีสาเหตุหลักมาจาก การเปลี่ยนตัวเองของไวรัสเพื่อความอยู่รอด นักวิจัยหลายคนตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นไปได้ว่า ไวรัสนี้วนเวียนอยู่ในประชากรมนุษย์มาเป็นเวลานานพอสมควร อาจมีปรับเปลี่ยนจากสัตว์ตัวกลางเป็นคน ซึ่งทำให้การแพร่กระจายเกิดจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ย้ำว่าเป็นสมมติฐานที่ยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบคุณสมบัติการเพิ่มจำนวนในเซลล์ กับสายพันธุ์เก่า ว่าต่างกันมากน้อยอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าคงมีให้วิเคราะห์กันต่อในไม่ช้า
แท็กที่เกี่ยวข้อง: