9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ปลดล็อก "กัญชา" ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของกัญชา ได้แก่ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชา ไม่ใช่ยาเสพติด ยกเว้นแต่สารสกัดจากกัญชา กัญชง ที่มีปริมาณสาร THC เกิน 0.2% ที่ยังถือเป็นยาเสพติด
ทุกคนปลูกได้ประชาชนสามารถปลูกเพื่อใช้เอง รวมทั้งผู้ประกอบการที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" ส่วนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ยังคงต้องขออนุญาต
ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์และส่วนของพืช ต้องขออนุญาตกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากเป็นผลิตภัณฑ์ต้องขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ณ วันที่ 2 พ.ค.65) ระบุ มีประชาชนขออนุญาตปลูก กัญชา 458 คน กัญชง 2,041 คน
ส่วนของการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อนุญาตไปแล้ว 935 รายการ ผลิตภัณฑ์อาหาร 90 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 12 รายการ ผลิตภัณฑ์ยา 15 รายการ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 818 รายการ)
การปลดล็อกวันที่ 9 มิ.ย.นี้ มีอะไรที่ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และเรื่องไหนที่ต้องจดแจ้งและขออนุญาตอยู่ รวมถึงแนวทางการปลูกและนำเข้า/นำติดตัว เพื่อใช้เฉพาะตนของกัญชา กัญชง
การสูบกัญชาทำได้ แต่ต้องระวังโทษปรับ/จำคุก ?
การสูบกัญชาที่ไหนได้บ้าง โดยตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป การสูบกัญชา ไม่มีความผิดกฎหมายยาเสพติด แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
ทั้งนี้ การสูบกัญชาในที่สาธารณะ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรงเช่น บุหรี่ ที่มี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควบคุมอยู่
การขออนุญาตปลูก "กัญชา" ทำอย่างไร ?
ตั้งแต่ 9 มิ.ย. ประชาชนปลูกเพื่อใช้เอง รวมทั้งผู้ประกอบการที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" หรือ ทางเว็บไซต์ ที่ อย. จัดทำขึ้น โดยทำใน 3 ขั้นตอน คือ ลงทะเบียน, จดแจ้งตามวัตถุประสงค์, รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์
ประชาชนจดแจ้งเพื่อปลูกในครัวเรือนกี่ต้นก็ได้ แต่ต้องขอให้สอดคล้องกับพื้นที่ับ้าน ส่วนหากปลูกในเชิงพาณิชย์ปลูกเป็นอุตสาหกรรมต้องขออนุญาต

กัญชา ที่ใช้ในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่าย ?
การนำ กัญชา กัญชง และสารสกัด CBD มาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องเป็นเฉพาะส่วนของพืชที่กำหนดในประกาศของ สธ. เช่น เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน รากและใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสารสกัด CBD ผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร เพื่อรับเลขสารบบอาหาร ขณะที่ เงื่อนไขชนิดอาหาร ปริมาณ THC และ CBD และแสดงคำเตือนเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ต้องดำเนินการยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารและเลขสารบบอาหารด้วย
สารสกัดพืชกัญชา กัญชง ถูกกฎหมาย ?
การนำส่วนใดของพืชกัญชา กัญชง ไปสกัดสารสกัดที่ได้จะมี THC ต้องขออนุญาตผลิตสกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด (ยกเว้นการสกัดจากเมล็ด) โดยผลผลิตสารสกัดที่ได้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
สกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % จะได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ และสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 % จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ
นำเข้าสารสกัดจากกัญชาหรือกัญชงได้หรือไม่ ?
ทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ห้ามนำเข้าสารสกัด ยกเว้นกรณีเพื่อการศึกษาวิจัย กรณีหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ส่วนสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย สำหรับใช้เป็นเครื่องมือแพทย์ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แต่ไม่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นนำเข้าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชง ?
ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 การนำเข้าจึงไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้งานบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือความมุ่งหมายของผู้ผลิต ดังนี้
- กรณีอาหาร จัดเป็นอาหารห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ.2564 ที่ออกตามมาตรา 6(8) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
- กรณีเครื่องสำอาง จัดเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามนำเข้าตามประกาศฯ ที่ออกตามความในมาตรา 6(1) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558
- กรณีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
ขั้นตอนนำเข้าเมล็ด-ส่วนอื่นของพืช ต้องทำอย่างไร ?
การนำเข้าเมล็ดกัญชา กัญชง และส่วนอื่น ๆ ของพืชกัญชา กัญชง เช่น เปลือก ลำต้น ใบ เส้นใย กิ่งก้าน ราก ยอดหรือช่อดอก มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากกัญชา กัญชง ต้องขอรับอนุญาต ดังนี้
- ขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และกรณีนำเข้าเมล็ดกัญชา กัญชง ต้องขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ด้วย
- เมื่อได้รับอนุญาตแล้วหากจะนำพืชกัญชา กัญชงดังกล่าวมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากกัญชา กัญชง ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ โดยกรณีผลิตเป็นอาหาร ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้า, กรณีผลิตเป็นเครื่องสำอาง ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ห้ามนำเข้า
และกรณีผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งหากได้รับอนุญาตให้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน

การนำเข้า/นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน ต้องทำอย่างไร ?
ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง รวมถึงการนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืช เพื่อใช้เฉพาะตัว ครอบคลุมการนำเข้าในลักษณะใดบ้าง และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้หรือไม่ อย่างไร
สำหรับการนำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัว ครอบคลุม ดังนี้ การนำติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และการส่งทางพัสดุ/ไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ผู้นำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัว จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาและนำมาใช้เองเท่านั้น โดยพิจารณาจากรูปแบบของสินค้าที่นำเข้า ดังนี้
- การนำเข้าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง จะไม่สามารถนำเข้าได้
- การนำเข้าในรูปแบบส่วนต่าง ๆ ของพืช ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ก่อน ส่วนกรณีนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง มาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อใช้เฉพาะตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. สภาผู้แทนราษฎร ผ่าน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง วาระแรกแล้ว ระหว่างนี้ ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมการใช้ไปก่อนได้ที่ผ่านมามีการคลายล็อกเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์มาพักหนึ่งแล้ว สิ่งที่จะได้รับเพิ่มขึ้น คือ การใช้ประโยชน์จากช่อดอก จากเดิมที่ห้ามใช้ แต่วันที่ 9 มิ.ย.เป็นต้นไป สามารถนำช่อดอกมาใช้ได้เลย ที่ต้องควบคุมจึงเหลือเพียงสารสกัดที่มีค่า THC สูงกว่า 0.2% ของน้ำหนัก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาโหวตผ่าน 373 เสียง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชงวาระ 1
10 ข้อควรระวังใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา"
ปล่อยตัวทันที 3,071 ผู้ต้องขังคดีกัญชา หลังปลดล็อก 9 มิ.ย.นี้
แท็กที่เกี่ยวข้อง: