พบ 9 คนป่วย "กัญชา" กลุ่มอยากทดลอง กินส้มตำ-กาแฟ

สังคม
23 มิ.ย. 65
09:11
1,008
Logo Thai PBS
พบ 9 คนป่วย "กัญชา" กลุ่มอยากทดลอง กินส้มตำ-กาแฟ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์ พบผู้ป่วยจากการใช้ "กัญชา" ในช่วงวันที่ 13-21 มิ.ย.นี้ จำนวน 9 คนเข้ารักษาในโรงพยาบาล 3 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่สนใจทดลอง บางส่วนกินโดยไม่รู้จากอาหารที่ผู้ประกอบการนำมาเป็นส่วนผสม เช่น ส้มตำ กาแฟ คุ๊กกี้กัญชา

วันนี้ (23 มิ.ย.2565) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานสถิติการเข้าใช้งานแอป ปลูกกัญ ล่าสุดมีจำนวนการลงทะเบียน 918,342 คน ออกใบรับจดแจ้งกัญชา 889,859 ใบ ออกใบรับจดแจ้งกัญชง 28,483 ใบ จำนวนเข้าใช้งานระบบ 41,250,114 ครั้ง

ขณะที่ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า หลังจากปลดล็อกกัญชา จากยาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามผลกระทบจากการใช้กัญชา โดยข้อมูลจาก 3 โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ คือ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเลิดสิน และ โรงพยาบาลราชวิถี ระหว่างวันที่ 13-21 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบรวม 9 คน โดยวันที่ 16 มิ.ย.พบสูงสุด 4 คน อยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี 2 คน และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 2 คน

อาการที่พบมากมี 3 ระบบ คือ ระบบหลอดเลือดและหัวใจ หลอดเลือดสมอง อาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันขึ้นลงๆ ชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะ ระบบประสาท อาการวิงเวียน มึน และพบประปรายในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งรูปแบบการรับกัญชาเข้าร่างกาย สำหรับกลุ่มที่ใช้ทางการแพทย์ได้รับข้อมูลการใช้ที่ถูกต้อง ยังไม่พบปัญหา

พบมากในกลุ่มที่สนใจทดลอง ทั้งการกินอาหารและสันทนาการ รวมทั้งในอาหารเกิดจากการที่ผู้ประกอบอาหารหวังเพิ่มรสชาติจึงใส่กัญชาเข้าไป ทำให้ผู้บริโภคได้รับกัญชาโดยไม่รู้ตัว จากประวัติของผู้เข้ารับการรักษา พบว่ากิน ส้มตำหน่อไม้ กาแฟผสมกัญชาผง คุกกี้กัญชา 

พบกลุ่มสนใจอยากทดลอง-กินอาหารที่มีส่วนผสม

นพ.มานัส ระบุว่า ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ควรบริโภคเลยคือ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้มีที่โรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคระบบประสาท และผู้ป่วยจิตเวช หรือครอบครัวมีประวัติป่วยจิตเวช ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร ที่สำคัญขอให้ร้านค้าพึงระวังและติดป้ายแจ้งลูกค้าถึงส่วนผสมของเมนูกัญชา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้ถ้าได้รับกัญชาไปเเล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถสังเกตได้เบื้องต้น คือ การหายใจผิดปกติ ชีพจรผิดปกติ หากเริ่มไม่รู้สึกตัว ผู้ใกล้ชิดต้องเรียกรถฉุกเฉินทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องระวัง ขอย้ำว่า การพบอาการหลังใช้กัญชา ไม่ว่าจะรูปแบบใด หากมาพบแพทย์แล้วจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ต้องกังวลเรื่องกฎหมาย เพื่อให้แพทย์รักษาได้ทันท่วงที

ขณะเดียวกัน มีข้อมูลที่น่าสนใจ ขณะนี้มีคนที่เสพกัญชาเเละเข้าบำบัดต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มที่ใช้สันทนาการ และบริโภคในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแม้การหยดน้ำมันกัญชาก็เกิดการเสพติดได้

ทั้งนี้ทางกรมการแพทย์จึงเปิดไลน์บัญชีทางการ (Line OA) ว่า "ห่วงกัญ" เพื่อให้ประชาชนสามารถคัดกรองอาการสงสัยมีภาวะติดกัญชา แต่เบื้องต้นสามารถสังเกตได้ว่า หากใช้กัญชาในปริมาณเพิ่มขึ้น ถี่ขึ้น เริ่มมีอาการอยากยา อาการขาดยา แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อบำบัดรักษา

ขณะที่จากข้อมูลพบว่าข้อมูลที่มีรายงานผ่านสื่อมวลชน ผลกระทบจากการใช้กัญชามีรายงานหลายแห่ง

  • วันที่ 17 มิ.ย.สำนักงานสาธารณสุขขอนแก่น จ.ขอนแก่น รายงานผู้เข้ารับการรักษาอาการแพ้กัญชาเบื้องต้น 100 คน 
  • วันที่ 21 มิ.ย.โรงพยาบาลรามาธิบดี มีรายงาน 14 คน

ชี้นำกัญชาเข้า "อินโดนีเซีย"โทษปรับ-ประหารชีวิต

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โพสต์ข้อความผ่านเพจเพซบุ๊ก Royal Thai Embassy, Jakarta แจ้งเตือนคนไทย ระบุว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ขอแจ้งเตือนคนไทยมิให้นำกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวเข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้สถานทูตไทย ระบุเพิ่มเติมว่า ข้อห้ามนำกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าว เข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายอินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 2,392,400 บาท จำคุก 5 ปีถึงตลอดชีวิต หรือโทษสูงสุดประหารชีวิต นอกจากนี้ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการรับฝากสิ่งของจากผู้อื่นมายังประเทศอินโดนีเซีย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กอาการแบบไหน? แพ้กัญชา

โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่มี "กัญชา-กัญชง" เกินจริง โทษถึงจำคุก

รามาฯ พบป่วย 14 คน จาก "กัญชา" มีเคสใช้ร่วมไอซ์-เห็ดเมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง