ธนาคารส่งสัญญาณ หมดยุคดอกเบี้ยบ้านแบบ "คงที่" ระยะยาว

เศรษฐกิจ
28 มิ.ย. 65
11:02
4,107
Logo Thai PBS
ธนาคารส่งสัญญาณ หมดยุคดอกเบี้ยบ้านแบบ "คงที่" ระยะยาว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในเดือน ส.ค. ทำให้ประชาชนบางส่วน เร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อล็อกเงื่อนไขเงินกู้เดิม ขณะที่สถาบันการเงิน เตรียมแผนยกเลิกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยแบบคงที่

วันนี้ (28 มิ.ย.2565) ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินพฤติกรรมผู้ที่กำลังวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ จะเร่งตัดสินใจทำสัญญาเงินกู้ด้วยเงื่อนไขเดิมเพิ่มขึ้น ในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ก.ค. ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน เดือน ส.ค. ซึ่งตลาดคาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ ร้อยละ 0.75 ต่อปี

กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ธอส.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากทันทีที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ถึงเดือน ต.ค.2565 ทำให้ธนาคารต้องลดผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยแบบคงที่ เพื่อบริหารต้นทุนการเงิน กระทบผู้กู้รายใหม่

ส่วนผู้กู้รายเก่า และผู้มีรายได้น้อย ในโครงการ "บ้านล้านหลัง" อาจผ่อนบ้านนานขึ้น เพราะค่างวดที่จ่ายไป ตัดชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 

สอดคล้องกับนายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคาร ได้ปรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย มาคิดดอกเบี้ยแบบลอยตัวแล้ว หาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี อาจกระทบค่างวดบ้าน เพิ่มขึ้น ล้านละ 2,000 - 3,000 บาทต่อปี

สำหรับแนวทางการปรับลดผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ จะทยอยปรับลด จากการคิดดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก เป็น คงที่ 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับ ความเร็ว และความแรง ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า ธนาคารพาณิชย์ เริ่มปรับตัวรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายแล้ว

ทั้งนี้ แบงก์ชาติ จะติดตามการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังตลาด รวมทั้ง การบังคับใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบกลุ่มเปราะบางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง