มองสายสัมพันธ์ "ผู้นำศรีลังกา-รัฐบาลมัลดีฟส์"

ต่างประเทศ
14 ก.ค. 65
20:17
399
Logo Thai PBS
มองสายสัมพันธ์ "ผู้นำศรีลังกา-รัฐบาลมัลดีฟส์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้นำศรีลังกาเลือกลี้ภัยในมัลดีฟส์เป็นจุดหมายแรก แม้จะเดินทางต่อไปสิงคโปร์ แต่การขยับตัวของมัลดีฟส์ในการให้ความช่วยเหลือ จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมจากประชาชนในประเทศ

การเปิดทางให้โกตาบายา ราจาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา ลี้ภัยทางการเมืองในมัลดีฟส์ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านเป็นวงกว้าง

ก่อนหน้านี้ โกตาบายาเดินทางด้วยเครื่องบินกองทัพเป็นระยะทาง 760 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปยังกรุงมาเลของมัลดีฟส์ หลังจากพลาดเที่ยวบินไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 เที่ยวบิน เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ประทับตราหนังสือเดินทาง

อ่านข่าว : "ประธานาธิบดีศรีลังกา" หนีออกนอกประเทศ

ขณะที่สำนักข่าว Reuters เผยแพร่คลิปวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือ นำไปสู่การตั้งคำถามถึงบทบาทของรัฐบาลมัลดีฟส์ในเรื่องนี้

คลิปวิดีโอบันทึกภาพชายกลุ่มหนึ่งเดินออกมาจากอาคารผู้โดยสารสนามบินในกรุงมาเล ก่อนที่ขบวนรถจะเคลื่อนออกไปไม่นานหลังจากประธานาธิบดีโกตาบายา ภริยา และเจ้าหน้าที่อารักขาเดินทางมาถึงมัลดีฟส์

ผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่า ชายที่เดินออกจากอาคารคนสุดท้ายคือ โมฮาเหม็ด นาชีด ประธานสภาและอดีตผู้นำมัลดีฟส์

ANI สื่ออินเดีย รายงานว่า นาชีดต่อรองจนเครื่องบินกองทัพที่ผู้นำศรีลังกาโดยสาร ได้รับอนุมัติให้ลงจอดได้ในที่สุด หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนมัลดีฟส์ปฏิเสธคำขอลงจอดครั้งแรก ทำให้เครื่องบินต้องบินวนอยู่เหนือสนามบิน

ข้อมูลเหล่านี้ นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความใกล้ชิดระหว่างอดีตผู้นำมัลดีฟส์ กับตระกูลราจาปักษาในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน

โมฮาเหม็ด นาชีด อดีตผู้นำมัลดีฟส์

โมฮาเหม็ด นาชีด อดีตผู้นำมัลดีฟส์

โมฮาเหม็ด นาชีด อดีตผู้นำมัลดีฟส์

 

ตระกูลราจาปักษา มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนาชีด เนื่องจากอดีตผู้นำมัลดีฟส์เคยลี้ภัยในศรีลังกา หลังจากเกิดการจลาจลเมื่อเดือน ก.ย.2003 และร่วมก่อตั้งพรรค MDP ในเดือน พ.ย.ปีถัดมา ซึ่งสมาชิกพรรค MDP มักใช้กรุงโคลัมโบเป็นสถานที่พบปะหารือกัน ก่อนที่นาชีดจะนั่งเก้าอี้ผู้นำมัลดีฟส์ในปี 2008

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นาชีดยังได้รับการแต่งตั้งจากรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ให้เป็นผู้ประสานงานช่วยเหลือศรีลังกา ซึ่งการแต่งตั้งให้อดีตผู้นำมัลดีฟรับตำแหน่งผู้ประสานงาน ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์ในการหาทางลงให้พี่น้องตระกูลราจาปักษา

พรรคฝ่ายค้าน PPM ของมัลดีฟส์ แสดงจุดยืนต่อต้านการเปิดทางให้โกตาบายาลี้ภัยทางการเมืองภายในประเทศ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจให้ชาวศรีลังกา และอาจทำให้ชาวมัลดีฟส์ที่เรียนหนังสือและทำงานอยู่ในศรีลังกาตกอยู่ในอันตราย

ขณะที่อินเดีย เป็นอีกประเทศที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยคอยให้ความช่วยเหลือประธานาธิบดีโกตาบายาลี้ภัยออกนอกประเทศ เนื่องจากรัฐบาลอินเดียใกล้ชิดกับรัฐบาลมัลดีฟส์ และเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นจนเกิดกระแสต่อต้าน India Out มาสักระยะ โดยรัฐบาลอินเดียออกมาปฏิเสธกระแสข่าวนี้ และแสดงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือชาวศรีลังกาอย่างเต็มที่

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชียใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีศรีลังกาพยายามยื้อเวลาเพื่อหาสถานที่ปลอดภัยให้ได้ก่อน เนื่องจากการลาออกจากตำแหน่งจะทำให้สูญเสียเอกสิทธิคุ้มครอง โดยตำแหน่งทำให้ไม่ถูกดำเนินคดีและได้รับการคุ้มกันต่อไป

 

อ่านข่าวอื่นๆ

"ศรีลังกา" ประกาศภาวะฉุกเฉินคุมผู้ประท้วงลุกฮือไล่ผู้นำ

"ศรีลังกา" เตรียมเลือกประธานาธิบดี-นายกฯ คนใหม่ 20 ก.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง