ตอบคำถาม ภาระหนี้ พ.ร.ก.ค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

เศรษฐกิจ
17 ส.ค. 65
19:01
192
Logo Thai PBS
ตอบคำถาม ภาระหนี้ พ.ร.ก.ค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังจาก ครม.เห็นชอบให้มีการออก พ.ร.ก.ค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน สิ่งหนึ่งที่ต้องตามมาคือ ภาระการชำระหนี้ ตามที่ รมว.คลัง เผยว่า กองทุนฯจะต้องวางแผนในการชำระหนี้ และการกู้จะต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายเพราะมีต้นทุนจากดอกเบี้ย

หลังจาก ครม.เห็นชอบให้มีการออก พ.ร.ก.ค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน ทั้งนี้ ต้องมาพิจารณาฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากที่เคยมีเงินกว่า 40,000 ล้านบาท

ขณะนี้ติดลบ 1.17 แสนล้านบาท ซึ่งมีหนี้สะสมจำนวนมากโดยมาจากการนำเงินมาตรึงราคาก๊าซหุงต้มมาตั้งแต่ปี 63 และก้อนใหญ่อีกก้อน คือ การนำมาอุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อไม่ให้สูงเกินไป การติดลบแสนกว่าล้าน ก็คือเงินที่รอนำไปจ่ายแล้วก็ต้องหามา

 

คำถามคือ ทำไมต้องให้กระทรวงการคลังไปค้ำประกันหนี้ของกองทุนน้ำมัน และจะนำเงินจากไหนไปจ่าย ซึ่งก็ต้องไปกู้ยืมมา สำนักงานบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินมานานหลายเดือน แต่ไม่มีที่ไหนให้กู้ ธนาคารไม่เชื่อมั่นว่าจะมีเงินมาคืนได้เมื่อใด เพราะราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง คือ ยังต้องอุดหนุนราคาพลังงานต่อไปอีกไม่รู้นานเท่าใด

อีกแนวทางคือ ครม.เห็นชอบให้โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซบริจาคเงินช่วย ถึงขณะนี้มี ปตท.เพียงรายเดียวที่ประกาศช่วย 3,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นก็ต้องหาเงินกู้ให้ได้ ดังนั้นถ้ากระทรวงการคลังมาการันตีให้ สถาบันการเงินก็จะเชื่อมั่นว่าปล่อยกู้ไปแล้วจะได้เงินคืน

 

สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ จะได้ไปเจรจากับสถาบันการเงิน ใช้กรอบเงินกู้ ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปก่อนหน้านีั 30,000 ล้านบาท กู้เอง ชำระเอง ไม่ได้มีผลต่อภาระงบประมาณ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลังให้ข้อมูลเรื่องนี้โดยระบุว่า ทางกองทุนก็จะต้องวางแผนในการที่จะชำระหนี้คืน ถ้ากรณีที่กู้ยืมทั้งหมดก็ต้องชำระหนี้ให้เสร็จภายใน 7 ปี ตามข้อเสนอแต่ทั้งหมดนั้นในการที่จะขอวงเงิน 1.5 แสนล้าน ไม่ได้หมายความว่า กองทุนฯจะกู้ทั้งหมดเลย ซึ่งต้องบริหารในเรื่องรายรับ-รายจ่าย ของตัวเองก่อน การกู้ต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายว่า การกู้นั้นจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมา ก็คือ ต้นทุนดอกเบี้ย

 

กรอบการค้ำประกันเงินกู้ ถือเป็นหนี้สาธารณะแน่นอน มากน้อยขึ้นอยู่กับเงินที่จะกู้จริง ๆ ขณะนี้หนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท หรือราว 61% ต่อ GDP การกู้เต็มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท กระทบระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ไม่น่าจะถึง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP

แต่อย่างไรก็เป็นข้อจำกัดทางการคลัง ถ้าเกิดมีวิกฤตช่องว่างที่จะกู้เงินได้จะลดลงมาอีก ถึงราคาน้ำมันเริ่มมีทิศทางลดลงมา แต่ราคาน้ำมันขายปลีกยังไม่สะท้อนราคาจริงๆ ดีเซลวันนี้อุดหนุนอยู่ 55 สตางค์ โดยที่ลดเก็บภาษีสรรพสามิต 5 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง