ตรวจสอบ “สารตกค้าง” หลังยุติกิจการล้างถัง และขนย้ายน้ำปนเปื้อนสารเคมี ออกจากหมู่บ้าน “ซับชุมพล”

สิ่งแวดล้อม
25 ส.ค. 65
16:13
406
Logo Thai PBS
ตรวจสอบ “สารตกค้าง” หลังยุติกิจการล้างถัง และขนย้ายน้ำปนเปื้อนสารเคมี ออกจากหมู่บ้าน “ซับชุมพล”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตรวจสอบความคืบหน้า หลังการขนย้ายน้ำปนเปื้อนสารเคมี จากกิจการล้างถัง บ้านซับชุมพล อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ออกจากพื้นที่เพื่อไปกำจัดอย่างถูกวิธี หลังผู้ว่าฯ โคราช สั่งปิดกิจการมานานกว่า 6 เดือน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทีมข่าว The EXIT ลงพื้นที่ “บ้านซับชุมพล” ม.9 ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ตรวจสอบความคืบหน้า หลังการขนย้ายน้ำปนเปื้อนสารเคมี จากกิจการล้างถัง ออกจากพื้นที่เพื่อไปกำจัดอย่างถูกวิธี การสุ่มตรวจสถานประกอบกิจการล้างถัง 3 แห่ง จาก 9 แห่ง ภายในหมู่บ้าน พบว่า ผู้ประกอบการบางราย มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง บางแห่งมีการนำดินเข้ามาถมบ่อพักน้ำเสีย


ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) ระบุว่า หลังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สั่งให้ยุติกิจการล้างถัง ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่เข้าประเมินปริมาณน้ำปนเปื้อนจากกิจการล้างถัง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของจังหวัด พบมีน้ำเสียปนเปื้อนที่ต้องส่งไปกำจัดราว 80 ตัน


แต่ตัวเลขการขนย้ายที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 19 ส.ค.65 พบว่า ปริมาณน้ำเสียที่ถูกส่งออกไปกำจัดอยู่ที่ 8.7 ตันเท่านั้น ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) ระบุว่า อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น อาจมีการระเหยของน้ำในบ่อพัก หรือ อาจถูกดินกลบ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสังเกตการณ์

อีกจุดที่มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ คือ บริเวณบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการรายหนึ่ง ที่อยู่ติดกับคลองอีสานเขียว จุดเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะมากที่สุด โดยผลตรวจก่อนหน้านี้ พบว่า บริเวณนั้นมีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักจริง


ปัจจุบันบ่อพักน้ำถูกนำดินมากลบ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เดินเข้าไปตรวจสอบพบว่า เกิดการยุบตัว ปรากฏให้เห็นตะกอนเลนสีดำที่อยู่ด้านล่าง และมีกลิ่นเหม็น เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างดิน ตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารโลหะหนัก เบื้องต้นผลการตรวจสอบไม่พบสารโลหะหนักที่เป็นพิษ

 

ขณะที่ “คลองอีสานเขียว” ซึ่งก่อนหน้านี้พบการปนเปื้อนของโลหะหนักบางชนิด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน การตรวจรอบนี้ พบว่า ปริมาณการปนเปื้อนลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง รวมถึงติดตามมาตรการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ “หมู่บ้านซับชุมพล” เป็นหมู่บ้านที่พบว่า มีการประกอบกิจการล้างถังมากถึง 9 ราย มีเหตุร้องเรียนจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็นและสารปนเปื้อน จนนำมาสู่การลงพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีคำสั่งผู้ว่าฯ ทั้งหมดให้ยุติกิจการและฟื้นฟู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง