วันที่ 28 ส.ค.2565 เจ้าหน้าที่ใช้ระเบิด 3,700 กิโลกรัม ติดตั้งตามจุดต่าง ๆ ของอาคารพักอาศัย 2 อาคาร ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงนิวเดลีของอินเดีย ก่อนอาคารจะพังถล่มลงมาพร้อมกันอย่างรวดเร็ว พร้อมเสียงระเบิดดังกึกก้องและกลุ่มฝุ่นควันขนาดใหญ่
ปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นการระเบิดทำลายอาคารครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในอินเดีย และได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก ที่เฝ้าชมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และยังถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และออนไลน์จากหลายมุม สื่อท้องถิ่นรายงานว่าใช้เวลา 9 วินาที ตึกสูงทั้ง 2 แห่ง ได้พังถล่มลงมาอย่างสมบูรณ์
สำหรับ 2 อาคารดังกล่าว สูง 32 ชั้น และ 29 ชั้น ถูกเรียกหลายชื่อทั้งฉายาตึกแฝด ตึก Supertech ตามชื่อบริษัทผู้สร้าง แต่ชื่อจริง ๆ คือ Apex กับ Ceyane ตั้งอยู่ในเมือง Noida ชานกรุงนิวเดลี ยังไม่มีผู้เข้าพักอาศัย และต้องถูกรื้อถอนหลังศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า สร้างขึ้นโดยขัดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร
ทั้ง 2 อาคารมีความสูงเกิน 97 เมตร และจุดที่อยู่ชิดกับอาคารข้างเคียงที่สุด ห่างกันเพียง 9 เมตร โดยอาคารข้าง ๆ สูง 12 ชั้น มีผู้อาศัยแล้ว เมื่อรวมแล้วอาคารใกล้เคียงมีคอนโดมิเนียม 45 อาคาร ผู้อาศัยถึง 7,000 คน ทำให้เรื่องความปลอดภัยกลายเป็นความท้าทายอย่างมาก
คุมเข้มความปลอดภัยก่อนระเบิดตึก
มาตรการความปลอดภัย คือ การอพยพทั้งผู้อาศัยและสัตว์เลี้ยงออกจากบริเวณนี้ทั้งหมดตั้งแต่เช้าวานนี้ (28 ส.ค.) และอนุญาตให้กลับเข้าไปได้เมื่อเวลาผ่านไปหลังระเบิดอาคารแล้วอย่างน้อย 5 ชั่วโมง
นอกจากนี้ สุนัขจรยังต้องถูกจับไปไว้ในศูนย์พักพิง ปิดถนนโดยรอบและปิดทางด่วนบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งยังต้องให้สนามบินเฝ้าระวังสถานการณ์ เพราะควันจากการระเบิดฟุ้งกระจายขึ้นไปในอากาศได้สูงถึง 300 เมตร ที่สำคัญจุดที่ระเบิดทำลาย มีท่อส่งแก๊สใต้ดินตั้งอยู่ห่างไป 15 เมตร สำหรับส่งแก๊สหุงต้มเข้ากรุงนิวเดลี

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และวิศวกรที่เกี่ยวข้อง เตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลานาน โดยการระเบิดลักษณะนี้ต้องเข้าไปวางวัตถุระเบิดตามจุดต่าง ๆ เชื่อมต่อกันเป็นจุด ๆ และต้องตรวจสอบให้แน่ใจ เพราะความผิดพลาดอาจจะทำให้งานไม่สมบูรณ์
วิศวกร อธิบายว่า ไม่ได้วางระเบิดไว้ทุกชั้นของทั้ง 2 อาคาร แต่ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Waterfall technique โดยในแต่ละตึกระเบิด 18 ชั้น จากทั้งหมดประมาณ 30 ชั้น เมื่อชั้นที่มีระเบิดพังลง ชั้นที่เหลือจะทรุดตัวถล่มตามลงมา
ก่อนหน้าการระเบิด วิศวกรคำนวณไว้ว่า การระเบิดจะส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังอาคารใกล้เคียง คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 10 ของแผ่นดินไหวขนาด 4 ตามมาตราริกเตอร์ ทีมงานนำเศษวัสดุต่าง ๆ ไปใส่ไว้ในฐานรากของอาคารแฝดเพื่อซับแรงสั่นสะเทือนอีกทางหนึ่ง
คาด 3 เดือน เก็บเศษซากวัสดุ 80,000 ตัน
เมื่อระเบิดตึกเสร็จแล้วงานยังไม่จบ ภารกิจต่อไปคือการเก็บกวาดเศษซากนับพันตันที่เกิดจากการระเบิด เจ้าหน้าที่อินเดีย ประเมินว่า หลังการระเบิด เศษซากวัสดุที่หลงเหลือมีปริมาณมากถึง 80,000 ตัน และต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน จัดการเก็บกวาดให้แล้วเสร็จทั้งหมด โดยใช้รถบรรทุกมากกว่า 1,200 คันในภารกิจนี้
ถือเป็นบทเรียนที่น่าสนใจกับการลุกขึ้นมาปราบปรามกลุ่มบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของอินเดีย ที่ก่อสร้างอาคารโครงการใหญ่โดยละเลยกฎหมาย รวมทั้งการปล่อยปะละเลยของภาครัฐ ทำให้ต้องระเบิดทำลายอาคาร สร้างความกังวลและส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก