สทนช.ชี้ระดับน้ำท่วมเริ่มลด คาดกลาง พ.ย.เข้าสู่สภาวะปกติ

ภัยพิบัติ
23 ต.ค. 65
08:54
537
Logo Thai PBS
สทนช.ชี้ระดับน้ำท่วมเริ่มลด คาดกลาง พ.ย.เข้าสู่สภาวะปกติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เลขาธิการ สทนช.ระบุสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย คาดเข้าสู่สภาวะปกติช่วงกลางเดือน พ.ย. ย้ำเทียบปริมาณฝนกับพื้นที่น้ำท่วมไม่เท่าปี 54 แม้ฝนตกสูงกว่าค่าปกติถึง 21%

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการเปรียบเทียบปริมาณฝนภาพรวมปี 2565 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-20 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าสูงกว่าค่าปกติถึง 21% โดยสูงกว่าปี 2564 ปริมาณ 295 มิลลิเมตร (มม.) หรือ 17% แต่ต่ำกว่าปี 2554 เพียง 10 มม. หรือ 1%

ฤดูฝนปีนี้พบว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 3,105 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลบ.ม./วินาที) และมีน้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรัง 659 ลบ.ม./วินาที ไหลมาสมทบ รวมมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา 3,707 ลบ.ม./วินาที โดยรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวม 538 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ เขื่อนเจ้าพระยาจะควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ +17.50 เมตร.รทก. เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงตัวเขื่อน โดยระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ +17.74 เมตร.รทก. จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สูงสุด 3,180 ลบ.ม./วินาที เป็นปริมาณที่น้อยกว่าปี 2554 ซึ่งการระบายน้ำได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ที่ไม่เคยท่วม แต่ปี 2565 เกิดปัญหาน้ำท่วม เกิดขึ้นจากหลายพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป และมีการป้องกันโดยใช้คันดินต่าง ๆ เป็นที่กั้นน้ำท่วม ทำให้ทิศทางการไหลไม่เป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายตามลำดับ คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่า 1,200 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 20-21 พ.ย. และจะต่ำกว่า 700 ลบ.ม./วินาที ในช่วงวันที่ 26-27 พ.ย.นี้

 

สำหรับสถานการณ์น้ำไหลบ่าล้นแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ลงทุ่งในพื้นที่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้มวลน้ำกำลังเคลื่อนตัวผ่านเมืองอ่างทอง อ.โพธิ์ทอง อ.วิเศษชัยชาญ และ อ.สามโก้ จ.อ่างทอง มุ่งหน้าลงแม่น้ำน้อยและไหลไปทุ่งผักไห่และทุ่งป่าโมกต่อไป

ขณะที่สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล ที่สถานี M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี คาดว่าระดับน้ำจะลดเหลือสูงกว่าระดับตลิ่ง 3 เมตร ในวันที่ 2 พ.ย. และลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าวันที่ 13 พ.ย.จะยังคงสูงกว่าระดับตลิ่งเพียง 50 ซม. และวันที่ 16 พ.ย.จะลดลงเข้าสู่ระดับตลิ่ง

สำหรับการสำรวจพื้นที่เสียหายจากภาพถ่ายดาวเทียม ระหว่างวันที่ 1-20 ต.ค. มีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 8.7 ล้านไร่ ขณะที่รัฐบาลเตรียมเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยเตรียมงบกลาง 6,000 ล้านบาท จ่ายให้ครัวเรือนละ 3,000 บาท จำนวน 2 ล้านครัวเรือน ซึ่งยังไม่ได้รวมการชดเชยเกษตรกรที่พืชผลและปศุสัตว์เสียหายเพิ่มเติม หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ คาดว่าช่วงกลางเดือน พ.ย.จะเข้าสู่สภาวะปกติ จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มปริมาณฝนลดลงและกำลังเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่เขื่อนเจ้าพระยากำลังปรับลดการระบายน้ำ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำเป็นขั้นบันได ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยจะเริ่มคลี่คลายและเข้าสู่สภาวะปกติต่อไป

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง