โค้งสุดท้าย เจรจาหั่นราคาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

กีฬา
2 พ.ย. 65
20:02
850
Logo Thai PBS
โค้งสุดท้าย เจรจาหั่นราคาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลก 2022 สดทางฟรีทีวีอย่างแน่นอน ซึ่ง กสทช.พร้อมใช้เงินกองทุนอุดหนุนค่าลิขสิทธิ์ เหลือเพียงการเจรจาต่อรองราคาที่ถูกลง

ความคืบหน้ากรณีการรับชมฟุตบอลโลก 2022 ของคนไทย ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการการรกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) กล่าวว่า อยากให้ได้ดูกันทุกคน ใช้งบประมาณของ กสทช.เพราะทำเพื่อประชาชน

ตัวเลขที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เสนอไปยัง กสทช.คือ จำนวน 1,600 ล้านบาท ในขณะที่ กสทช.มีเงินในกองทุนเหลือเพียง 900 ล้านบาท จึงให้ กกท.ไปทำรายละเอียด และคุยกับเอเจนซีเพื่อขอลดราคา

ทั้งนี้ กกท.กำลังเจรจากับ บริษัท อินฟรอนท์ ซึ่งเป็นเอเจนซี่ เพื่อขอลดราคาให้ถูกกว่านี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ย.65)

นอกจากนี้ ยังต้องดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงขันซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนที่เป็นเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ 2 รายในประเทศ

แต่ยังยึดฟูลแพ็กเกจ ถ่ายทอดสดครบทั้ง 64 นัด ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม ทั้งฟรีทีวี เพย์ทีวี ออนไลน์ และการรับชมผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งผู้ว่า กกท.เผยว่าเป็นไปได้ที่ส่วนหนึ่งจะดูสดทางฟรีทีวี และบางนัดจะต้องดูทางเพย์ทีวีที่มีค่าบริการ

ส่วนผู้ดำเนินการถ่ายทอดสดได้ข้อสรุปแน่นอนแล้วว่า กกท.จะเป็นศูนย์กลางถ่ายทอด ผ่านช่องหลัก T-Sport ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ ยังไม่มีการติดต่อเข้ามา

แม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามหาช่องทางเพื่อให้ได้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแม้จะมีราคาสูง แต่นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า กฎ Must carry และกฎ Must have ในต่างประเทศ เช่นในออสเตรเลีย จะใช้ในการแข่งขันกีฬาระดับชาติของประเทศที่ประเทศออสเตรเลียาเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ออสเตรเลียติดไปแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ก็แปลว่า ต้องถ่ายทอด ถ้าเคเบิลทีวีถ่ายทอดก็ต้องให้ฟรีทีวีถ่ายทอดด้วย

อีกกรณี ถ้าฟรีทีวีมีรายการใดแล้วประชาชนเข้าถึงผ่านเคเบิลทวี ถ้าเคเบิลทีวีไม่ช่วยถ่ายทอดสัญญาณให้ฟรีทีวีประชาชนจำนวนมากก็ไม่ได้ดูรายการหลาย ๆ รายการ ที่มาที่ไปของกฎระเบียบเหล่านี้ มีเจตนาเช่นนี้

กรณีไทยถามว่า การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย เป็นมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกที่ไทยเข้าร่วมแข่งขันหรือไม่ เพราะไทยได้แต่เป็นฝ่ายเชียร์ แต่ถ้าประชาชนอยากจะดู ควรจะปล่อยให้กลไกตตลาดทำงาน เพราะว่ามีคนที่พร้อมที่จะดู ไม่ว่าที่จะพร้อมที่จะดูโฆษณา หรือ พร้อมที่จะจ่าย เพราะฉะนั้นถ้าจะปล่อยให้กลไกตลาดทำงานก็จะน่าจะแก้ปัญหาได้ อย่างเช่นแต่ละครั้งที่ผ่านมา

แต่การไปล็อกไว้ว่าถ้าเคเบิลไปซื้อมา แล้วต้องมาแจกฟรีทีวีด้วย เคเบิลก็จะไม่สามารถได้เงินกลับมาได้ง่ายเพราะฉะนั้นจึงตัดสินใจที่จะไม่ถ่ายทอดสดซึ่งก็คือปัญหาที่คิดว่าขึ้นอยู่กับกฎระเบียบที่กำหนดออกมา

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าในกลุ่มประเทศอาเซียน มีเพียง ไทย ลาว และเมียนมา เท่านั้นที่ยังไม่ได้ตกลงซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

แต่ราคาที่ฟีฟ่ากำหนดให้ไทยมีราคาค่อนข้างสูง โดยประเมินจากความนิยมฟุตบอลในประเทศและขนาดของเศรษฐกิจ ซึ่งไทยถูกจัดให้อยู่ในระดับเดียวกับมาเลเซีย

การถ่ายทอดสดฟูลแพ็กเกจครบ 64 นัดอยู่ที่ 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1,444 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มาเลเซียเลือกถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีจำนวน 27 นัด และเทปถ่ายทอดอีก 9 นัด ใช้เงินประมาณ 261 ล้านบาท

เวียดนาม ซื้อในราคาราว 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 532 ล้านบาท เนื่องจากฟีฟ่าประเมินขนาดของเศรษฐกิจของเวียดนามเล็กกว่าไทย

ฟิลิปปินส์ ถ่ายทอดสดทางเพย์ทีวี ซื้อในราคาประมาณ 1,306 ล้านบาท, อินโดนีเซีย ซื้อในราคาประมาณ 1,596 ล้านบาท

ส่วนสิงคโปร์ เป็นประเทศที่ซื้อแพงที่สุดในอาเซียน ซึ่งถ่ายทอดสดครบ 64 นัด ในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ราคา 2,636 ล้านบาท และมีเพียง 9 นัด เท่านั้นที่ถ่ายทอดสดทาง ฟรีทีวี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง