ศึกชนช้างเขาใหญ่ "พลายทองคำ" งาหัก

สิ่งแวดล้อม
11 พ.ย. 65
18:45
6,718
Logo Thai PBS
ศึกชนช้างเขาใหญ่ "พลายทองคำ" งาหัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พลายทองคำ-พลายงาทอง ช้างป่าอุทยานฯ เขาใหญ่ ต่อสู้แย่งชิงตัวเมียจนพลายทองคำงาหัก เตือนนักท่องเที่ยวอย่าเข้าใกล้ช้างตกมัน ขณะที่หมอล็อตเล็งให้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ลดความเสี่ยงติดเชื้อ พร้อมเสริมโป่งเทียมดูแลโภชนาการสัตว์ป่า คาดขาดแร่ธาตุ-งาไม่แข็งแรง

วันนี้​ (11 พ.ย.2565)​ นายบดินทร์ จันทศรีคำ ประธานชมรมคนรักสัตว์ป่า ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า เมื่อเวลาประมาณ 06.40 น. น้องเบขับรถมาพบเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.20 (น้ำตกเหวนรก) กำลังเก็บกิ่งไม้หักและทำความสะอาดรอยเลือดอยู่บนถนนช่วง กม.28-29 อีกทั้งพบงาช้างแตกหักเป็น 2 ชิ้น คาดว่าเกิดจากต่อสู้กันระหว่างช้างป่าเมื่อคืนนี้ (10 พ.ย.)

นายบดินทร์ กล่าวว่า ล่าสุดพบช้างป่าพลายทองคำเมื่อเวลา 13.30 น.ของวันนี้ โดยปรากฎตัวประมาณ 10 นาที บนถนนช่วงก่อนถึงโป่งอาจารย์แมว จากนั้นเดินลงป่า พบว่างาข้างขวาหัก ส่วนงาด้านซ้ายแตกตรงปลายและบิ่น ไม่มีบาดแผลหรือเลือดไหลตามลำตัว

ภาพ : น้องเบ

ภาพ : น้องเบ

ภาพ : น้องเบ

เตือนอย่าเข้าใกล้ช้างตกมัน

ขณะนี้ทีมอาสาฯ เฝ้าระวังช้าง อยู่ระหว่างการติดตามว่ามีอาการบาดเจ็บอื่น ๆ หรือไม่ แต่ต้องเว้นระยะห่าง เพราะช้างป่าที่เพิ่งบาดเจ็บจะมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด พร้อมเตือนนักท่องเที่ยวอย่าเข้าใกล้ช้างป่า โดยเฉพาะเป็นช่วงตกมัน ให้สังเกตหู หาง และอารมณ์ของช้าง รวมทั้งอย่าบีบแตรรถยนต์เมื่อพบช้างป่า

เทียบจากสีงาเป็นของพลายทองคำทั้งหมด ส่วนพลายงาทองยังหลบอยู่ด้านในป่า

นายบดินทร์ คาดว่าช้างป่าทั้งคู่ต่อสู้แย่งช้างป่าโขลงแม่ด้วน เพราะก่อนหน้านี้ 2 วัน ช้างโขลงดังกล่าวออกมา ต่อมาอีก 1 วัน พลายงาทองได้เดินตามช้างโขลง และพลายทองคำตามออกมา จากนั้นเกิดการเผชิญหน้ากัน โดยช้างตัวหนึ่งอยู่บนถนนและอีกตัวหนึ่งอยู่ริมถนน หักต้นไม้ใส่กัน กระทั่งเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่พบกิ่งไม้หักบนถนน รวมทั้งพบงาช้างและเลือด คาดว่ามีการต่อสู้ช่วงคืนที่ผ่านมา

วิถีแห่งธรรมชาติช้างป่าวัดความเป็นผู้ชนะด้วยพละกำลัง ตัวผู้ที่อ่อนแอกว่าก็ต้องถอยหลีกทางให้ผู้ที่แข็งแรงกว่าได้ใช้อาณาบริเวณ ได้เข้าโขลงไปผสมพันธุ์กับช้างตัวเมีย เป็นการคัดเลือก และสืบทอดสายพันธุ์ที่แข็งแรง

จ่อให้ "วัคซีนบาดทะยัก" ช้างป่างาหัก

ขณะที่ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงแผนการดูแลช้างป่าตัวที่ได้รับบาดเจ็บ ว่า เบื้องต้นพบว่าช้างป่างาหักและมีรอยเลือด โดยจะให้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ลดความเสี่ยงติดเชื้อ เพราะปกติช้างจะบรรเทาอาการบาดเจ็บและไล่แมลงบริเวณบาดแผล ด้วยการนำน้ำพ่นเข้าไปในโพรงงาข้างที่หัก อาจทำให้ดินที่มีเชื้อโรคปะปนเข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สัตวแพทย์จะไม่ได้ให้ยารักษา เพราะอาจทำให้ช้างหันหน้ามาต่อสู้กันใหม่ได้ พร้อมทั้งติดตามประเมินบาดแผลว่าบวมขึ้นหรือไม่ในช่วง 2-3 สัปดาห์

เสริมโป่งเทียมให้ "ช้างป่า" พบงาไม่แข็งแรง

น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า ได้หารือกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เกี่ยวกับข้อสังเกตว่าอาจมีปัญหาของภาวะโภชนาการช้างป่า หลังพบว่างาช้างหักง่าย อาจเกิดจากโครงสร้างงาไม่แข็งแรง ขาดแร่ธาตุ แคลเซียมฟอสฟอรัส นอกจากนี้พบว่าช้างป่าบางตัวเข้าไปรื้อครัว กินเกลือ น้ำปลา และขยะ จึงเตรียมเสริมโป่ง หรือทำโป่งเทียมเพิ่มเติมให้สัตว์ป่าและช้างป่า เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก งา และลดปัญหาช้างออกนอกพื้นที่

สำหรับพลายทองคำ อายุประมาณ 30 กว่าปี นิสัยขี้อาย มักออกมาให้นักท่องเที่ยวได้พบเห็นปีละ 3-4 ครั้ง ส่วนพลายงาทอง อายุประมาณ 40 ปี เป็นขวัญใจนักท่องเที่ยวและมักออกมาโชว์ตัวบ่อยครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง