จิตแพทย์ไม่พอ สธ.เร่งผลิตเพิ่ม

สังคม
7 ธ.ค. 65
07:00
166
Logo Thai PBS
จิตแพทย์ไม่พอ สธ.เร่งผลิตเพิ่ม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัจจุบันในประเทศไทย แพทย์ที่คอยดูเเลผู้ป่วยจิตเวชยังถือว่ามีจำนวนไม่เพียงพอกับผู้ป่วย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายผลิตจิตแพทย์เพิ่มอีก 400 คน ภายใน 5 ปี เพื่อให้กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ

จากระบบคลังข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการตามการรักษากว่า 2.5 ล้านคน

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. ระบุว่า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ พ.ศ.2564 ที่ให้แนวทาง “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” นั้น คาดการณ์ว่าผู้เสพยาเสพติดจะมีประมาณ 1.9 ล้านคน

เเบ่งตามความรุนเเรงได้ 3 กลุ่ม

กลุ่มผู้เสพติด ประมาณ 3.5 หมื่นคน ต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูระยะยาว พบแพทย์อย่างต่อเนื่อง

กลุ่มผู้เสพ ประมาณ 4.5 แสนคน ควรเข้าการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยสถานพยาบาลในพื้นที่ โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ผู้ผ่านการอบรมและมีจิตแพทย์ของจังหวัดเป็นพี่เลี้ยง

กลุ่มผู้ใช้ ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถดูแลได้ในพื้นที่ ด้วยกลไกชุมชนที่บูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานในและนอก สธ.

นายอนุทิน ระบุว่า ได้มอบนโยบายให้เร่งแก้ไขปัญหาจำนวนจิตแพทย์ที่ไม่เพียงพอ และเห็นควรขยายกรอบอัตรากำลังและมีแผนขยายการฝึกอบรม เเละหาแนวทางร่วมกับภาคีเครือข่ายในการผลิตจิตแพทย์

ตั้งเป้าเพิ่มจิตแพทย์อีก 400 คนภายใน 5 ปี ให้กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ

พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะจิตแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นยังขาดแคลน

ปัจจุบันมีจิตแพทย์ภาพรวมที่ให้บริการในสังกัด สธ. และ กทม. ทั้งสิ้น 822 คน เเบ่งเป็นจิตแพทย์ทั่วไป จำนวน 632 คนหรือร้อยละ 76.9 และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จำนวน 190 คนหรือร้อยละ 23.1 อัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ 1.25 คน ต่อ 1 แสนประชากร ในปี 2565.

โดยจำนวนทั้งหมดนี้ กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ 

กทม. 367 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 114 คน
ภาคกลาง(รวมตะวันตก) 112 คน
ภาคเหนือ 103 คน
ภาคใต้ 83 คน
และ ภาคตะวันออก 43 คน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง