"นิวซีแลนด์" ตั้งเป้าเป็นประเทศปลอดบุหรี่ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ต่างประเทศ
14 ธ.ค. 65
12:17
698
Logo Thai PBS
"นิวซีแลนด์" ตั้งเป้าเป็นประเทศปลอดบุหรี่ในอีก 3 ปีข้างหน้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก หลายชาติพยายามออกกฎหมายควบคุมให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ และ "นิวซีแลนด์" ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จริงจังในเรื่องนี้อย่างมาก

เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะล่าสุด รัฐสภานิวซีแลนด์เพิ่งผ่านกฎหมายที่จะทำให้คนรุ่นหลังๆ ไม่สามารถซื้อบุหรี่ได้ตลอดชีวิต

นิวซีแลนด์ตั้งเป้าจะเป็นประเทศปลอดบุหรี่ให้ได้ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) นั่นหมายความว่า รัฐบาลจะต้องงัดมาตรการเข้มเพื่อลดจำนวนนักสูบในประเทศให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 5 ภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้

แต่ขณะนี้ชาวนิวซีแลนด์สูบบุหรี่มากน้อยแค่ไหน

ข้อมูลจากทางการเมื่อพฤศจิกายน ชี้ว่าปัจจุบันมีชาวนิวซีแลนด์ที่สูบบุหรี่ทุกวันประมาณร้อยละ 8 ซึ่งลดลงครึ่งหนึ่งจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่การจะกดตัวเลขนี้ให้เหลือไม่ถึงร้อยละ 5 จำเป็นจะต้องมีมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลประกาศจุดยืนมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ว่ามีแผนที่จะทำให้คนรุ่นหลังของประเทศไม่สามารถซื้อบุหรี่ได้อีกต่อไป

รัฐสภานิวซีแลนด์ลงมติผ่านกฎหมายฉบับนี้ในช่วงวันที่ 13 ธ.ค.2565 โดยมี ส.ส. 76:43 เสียง สนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้ในปีหน้านิวซีแลนด์จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบที่เข้มงวดมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก

จุดแรกที่ถือว่าสำคัญที่สุดในกฎหมายฉบับนี้ คือ การห้ามขายยาสูบให้กับคนที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2552 เป็นต้นไป

จุดนี้ต่างจากข้อบังคับตามปกติ ที่มักจะกำหนดข้อห้ามเรื่องอายุของผู้ซื้อยาสูบ ซึ่งหลังจากอายุเกินจากข้อกำหนดแล้วก็จะสามารถซื้อได้

แต่กฎใหม่ข้อนี้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ถ้าคุณเกิดหลัง 31 ธันวาคม พ.ศ.2551 นั่นหมายถึง คุณจะไม่สามารถซื้อยาสูบในนิวซีแลนด์ได้ตลอดชีวิต หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ เกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ซื้อจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เช่น ในอีก 50 ปีข้างหน้า คุณต้องมีอายุอย่างน้อย 63 ปี ถึงจะซื้อยาสูบได้ นั่นเท่ากับว่า นิวซีแลนด์แทบจะเป็นประเทศที่ปลอดยาสูบไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังมีผลในการลดจำนวนร้านขายยาสูบทั่วประเทศ จาก 6,000 ร้าน ให้เหลือ 600 ร้าน ภายในปีหน้า และลดปริมาณนิโคตินในยาสูบด้วย ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ รัฐบาลเชื่อว่าจะทำให้คนอยากสูบบุหรี่ลดลง

แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้กับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีชาวนิวซีแลนด์สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากไม่ถึงร้อยละ 1 เป็นมากกว่าร้อยละ 8 ในระยะเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น

ทางด้าน ส.ส.ที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้มองว่า มาตรการควบคุมดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เพราะคนจะหันไปหาของในตลาดมืดแทน ขณะที่ร้านค้าเล็กๆ ในชุมชนจะอยู่ไม่ได้ เพราะถูกห้ามขายบุหรี่

แม้จะมีข้อกังวล แต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขจำนวนไม่น้อยออกมาแสดงความยินดีในความก้าวหน้าครั้งนี้ หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์พยายามอย่างจริงจังในการลดจำนวนนักสูบด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การออกแบบซองบุหรี่แบบเรียบ การออกคำเตือนข้างซองและขึ้นภาษียาสูบ

การผ่านกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงขั้นยกให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่คุมเข้มเรื่องยาสูบมากติดอันดับโลก เพราะผ่านกฎหมายที่ยังไม่มีชาติไหนกล้าทำ

แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดมาก่อนหน้านี้ก็คือ ภูฏาน โดยเมื่อปี พ.ศ.2553 ทางการออกกฎหมายห้ามผลิต ห้ามขาย และห้ามแจกจ่ายยาสูบทั่วประเทศ

แต่ข้อห้ามเหล่านี้ก็ไม่สามารถขัดขวางนักสูบได้ โดยชาวภูฏานหันไปซื้อยาสูบที่ลักลอบขนมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ก่อนที่ในปี 2563 รัฐบาลจะประกาศยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และอนุญาตให้ขายยาสูบในร้านค้าของทางการได้ หลังจากพบว่ามีพ่อค้าที่ลักลอบขนยาสูบจากฝั่งอินเดียติดโควิด-19 ทำให้กังวลว่าการแพร่ระบาดจะลุกลามเข้ามาในประเทศ

ส่วนภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคนี้ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยอินโดนีเซียและลาว นอกจากจะมีตัวเลขนักสูบมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ยังถือเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมยาสูบ เข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองอย่างมาก (อ้างอิงจากดัชนีการแทรกแซงอุตสาหกรรมยาสูบโลกเมื่อปี 2564)

แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ ชาติสมาชิกอาเซียนต่างตระหนักดีถึงผลกระทบของปัญหานี้ต่อระบบสาธารณสุข โดยพบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในอาเซียนประมาณ 5 แสนคน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายชาติพยายามเร่งหาทางออกผ่านการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดพื้นที่ห้ามสูบ และการออกแบบซองบุหรี่แบบเรียบ

ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกของเอเชีย ที่รับรองมาตรการนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ยาสูบ ถือเป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพของคนจำนวนไม่น้อยและทำให้หลายชาติต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่การแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการผลักดันจากภาครัฐและความร่วมมือของภาคประชาสังคมไปพร้อมๆ กัน

วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง