ข่าวเด่นไทยพีบีเอส 2565 : สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบทั่วโลก

ต่างประเทศ
30 ธ.ค. 65
21:52
2,821
Logo Thai PBS
ข่าวเด่นไทยพีบีเอส 2565 : สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบทั่วโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกในปีนี้ คือ การเปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา

การทำสงครามตลอด 10 เดือน ได้ส่งผลกระทบต่อกลไกทางการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจในระดับโลก แม้ว่าการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามในครั้งนี้ จะถูกพูดถึงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง แต่โอกาสที่โลกจะเห็นผู้นำรัสเซียและยูเครนนั่งโต๊ะเจรจาร่วมกันยังคงเป็นไปได้ยาก 

เสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังขึ้นในเช้าวันที่ 24 ก.พ. ทันทีที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศเคลื่อนกำลังพลบุกยูเครนภายใต้ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร

การเปิดศึกทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ไล่มาตั้งแต่ทางเหนือ ตะวันออกและทางใต้ ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับยูเครน

ภาพของขบวนรถถัง ซากปรักหักพัง ร่างผู้เสียชีวิต รวมทั้งคลื่นผู้อพยพหลายล้านคน กลายเป็นภาพที่แทบไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าเรื่องแบบนี้กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ในศตวรรษที่ 21

ทำไมรัสเซียบุกยูเครน

การเปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารมีเป้าหมายเพื่อกดดันให้ยูเครนเลิกล้มความคิดในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การป้องกันสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต หลังจากปลายปี 2021 รัสเซียเคยยื่นเอกสารร่างสนธิสัญญารับประกันความมั่นคงให้สหรัฐฯ และนาโตร่วมพิจารณา

เอกสารฉบับนี้เรียกร้องให้นาโตต้องยุติการขยายอิทธิพลตามแนวรบฝั่งตะวันออก ยุติการประจำการอาวุธในดินแดนของชาติสมาชิกที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย รื้อถอนโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารออกจากดินแดนของสมาชิกที่เข้าร่วมหลังปี 1997 เป็นต้นไปและไม่รับยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่

กลุ่มประเทศในแถบยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่ ซึ่งเคยมีความผูกพันทางประวัติศาสตร์กับอดีตสหภาพโซเวียต ต่างทยอยเข้าเป็นสมาชิกนาโตนับตั้งแต่ ปี 1997 เป็นต้นมา ในขณะที่ยูเครนซึ่งเป็นกันชนระหว่างรัสเซียกับตะวันตก ตกอยู่ในสถานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของรัสเซีย เพราะหากยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต นั่นก็คือภัยคุกคามที่กำลังมาจ่ออยู่หน้าบ้านรัสเซียในทันที

นอกจากนี้ปูตินยังอ้างว่าการเปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารเป็นการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือคนเชื้อสายรัสเซียในภูมิภาคดอนบาสทางภาคตะวันออกของยูเครนให้รอดพ้นจากกลุ่มนาซีใหม่

สงครามกำลังเดินไปทิศทางใด

สงครามตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา รัสเซียและยูเครนผลัดกันเป็นฝ่ายได้เปรียบและเสียเปรียบมาโดยตลอด จนกระทั่งยูเครนเปิดปฏิบัติการโจมตีโต้กลับทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศและยึดคืนดินแดนส่วนหนึ่งกลับคืนมาได้ ในขณะที่การเจรจาสันติภาพหยุดชะงักไปหลังจากรัสเซียเดินหน้าจัดการลงประชามติผนวกดินแดนโดเนตสค์ ลูฮันสค์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ซ้ำรอยการผนวกไครเมีย เมื่อปี 2014

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ออกมาประกาศกร้าวว่าจะเจรจากับผู้นำรัสเซียคนใหม่ที่ไม่ใช่ปูตินเท่านั้น

แม้ว่าการสนับสนุนด้านอาวุธจากชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการทหารของยูเครนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยภาวะเหนื่อยล้าจากสงครามในกลุ่มพันธมิตรตะวันตก เนื่องจากหลายประเทศเริ่มเผชิญกับแรงกดดันจากประชาชนมากขึ้น เนื่องจากยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ

ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับนิวเคลียร์เกิดขึ้นเป็นระยะๆ หลังจากรัสเซียขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้ภัยคุกคาม แม้ว่าสหรัฐฯ จะชี้ว่าขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงก็ตาม

สงครามกระทบต่อโลกอย่างไร?

นอกจากนี้สงครามยังได้ส่งแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดพลังงานทั่วโลก หลังจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกรุมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ตัดรัสเซียออกจากระบบธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศหรือสวิฟต์ ขณะที่ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงทั่วโลก เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรได้ย้อนกลับมาซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก

ประชากรกว่าครึ่งค่อนโลกเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร หลังจากรัสเซียส่งกองเรือปิดล้อมน่านน้ำนานกว่า 3 เดือน ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ตามปกติ ร้อยละ 70 ของข้าวสาลีจากยูเครน ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอาหารหลักหลายอย่างที่หล่อเลี้ยงปากท้องของประชากรโลกไม่สามารถส่งออกได้ ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตันตกค้างอยู่ในโกดัง

รัสเซียถูกตราหน้าว่าใช้อาหารเป็นอาวุธสร้างความปั่นป่วนทั่วโลก จนกระทั่งผู้แทนจากยูเครน รัสเซีย ตุรกี และ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ต้องร่วมเป็นตัวแทนลงนามที่นครอิสตันบูลของตุรกี เพื่อให้รัสเซียยอมเปิดทางให้ยูเครนส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำได้อีกครั้ง

สงครามส่งผลกระทบต่อการเมืองอย่างไร?

ความขัดแย้งตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา บีบให้โลกตกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามเย็นครั้งใหม่ ในขณะที่ประเทศต่างๆ ถูกกดดันให้แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกข้างอย่างชัดเจน

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนถูกจับตามองถึงความใกล้ชิดสนิทสนม หลังจากสี จิ้นผิง และ ปูติน เคยประกาศยกระดับการเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นแบบไร้ขีดจำกัด เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่สงครามจะเปิดฉากขึ้น แม้ว่าจีนจะพยายามสงวนท่าทีด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่าสงครามและประณามการใช้ความรุนแรงของรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงจุดยืนสนับสนุนอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนมาโดยตลอด

การลงมติประณามการรุกรานยูเครนและประณามการผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครน ตอกย้ำให้เห็นว่าความขัดแย้งทำให้โลกแสดงพลังคัดค้านร่วมกันและอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ประเทศที่ลงมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงถูกตั้งคำถามต่อท่าทีในสงครามในครั้งนี้ไม่น้อย

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ถูกหยิบขึ้นมาหารือในวงประชุมด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเวทีอาเซียน จี 20 หรือแม้กระทั่งเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าผลกระทบจากสงครามได้ส่งแรงกระเพื่อมไปยังมิติต่างๆ ของโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มองอนาคตของสงครามจะลงเอยอย่างไร?

ฤดูหนาวที่กำลังดำเนินอยู่ในยูเครนขณะนี้ ย่อมเป็นฤดูหนาวที่โหดร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา หลังจากรัสเซียเน้นเป้าหมายไปที่การโจมตีโครงข่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. เป็นต้นมา ทำให้ชาวยูเครนไม่มีกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ในขณะเดียวกันยูเครนก็ได้ยกระดับการโจมตีเป้าหมายทางการทหารของรัสเซียอย่างหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน สถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดแล้ว สำหรับคำถามที่ว่าแล้วสงครามครั้งนี้จะลงเอยอย่างไรต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง