ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ความอลังการที่ถูกเรียก 5 จีสมาร์ทสเตชัน ด้วยพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 304,000 ตร.กม.และมีอาคาร 4 ชั้น แบ่งเป็น ชั้นใต้ดิน เป็นที่จอดรถ รวม 1,700 คัน ชั้นลอย เป็นร้านค้า และห้องควบคุมระบบ
ส่วนชั้น 1 เป็นส่วนของห้องจำหน่ายตั๋ว เพื่อเดินทางในเส้นทางต่างๆ ส่วนชั้น 2 เป็นชานซาลาเพื่อขึ้นรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา ส่วนชั้น 3 ชานชาลารถไฟ ขึ้นรถไฟความเร็วสูง 10 ชานชาลา รถไฟเชื่อมต่อสนามบิน กับแอร์พอร์ตลิงก์ 2 ชานชาลา

โดยสามารถรองรับผู้โดยสารปัจจุบัน และอนาคตได้มากกว่า 136,000 คนต่อวัน ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีม่วง มาจุดต่อรถระบบรางได้ทุกสาย

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แห่งนี้ เดิมเรียกกันว่าสถานีกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสถานีกลางบางชื่อว่าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งคำว่า "อภิวัฒน์" หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง

หากใครลงมาสถานีแล้วไปไหนไม่ถูก นอกจากจะเจอกับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ตามจุดต่างๆแล้ว ยังเจอกับหุ่นยนต์นำทาง ที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรก มีชื่อว่า น้อง "SRT BOT และ Smart Wheelchair " ให้บริการนำทางผู้โดยสารทั่วไปและผู้สูงอายุ ผู้พิการ ไปได้ทุกที่ในอาคารไม่ต้องกลัวหลง ให้บริการได้ถึง 3 ภาษาคือไทย จีน และอังกฤษ

จากการสอบถามผู้ใช้บริการ นายณัฎฐวีวัขร์ พวงทอง บอกว่า ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นครั้งแรก รู้สึกชอบเพราะจุดเดียวไปได้หมดทั้งภาคเหนือ-ภาคใต้ โดยครั้งนี้เดินทางกลับบ้านที่ จ.นครปฐม ค่าโดยสาร 20 บาท ถือว่าสถานี มีความกว้างขว้างและสะดวก ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้บริการที่สถานีหัวลำโพง และสามเสน
ส่วน ไรดา วอดิง ผู้ใช้บริการที่จะเดินทางไป จ.ยะลา พร้อมกับครอบครัวประมาณ 10 คน บอกว่า ก่อนหน้านี้ใช้สถานีบางซื่อ โดยเดินทาง 3 ต่อ จากคลองไผ่ จ.นนทบุรี ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง แล้วต่อสายสีแดง
วันนี้ใช้บริการในอาคาร รู้สึกสับสนเล็กน้อย และหาห้องละหมาดไม่พบ พร้อมเรียกร้องให้เพิ่มสายชำระในห้องน้ำ
เธอบอกว่า แต่ในภาพรวมก็ถือว่าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง และมีความทันสมัย ซึ่งการเดินทางกลับบ้านครั้งนี้ยังซื้อกระเป๋าใส่เหรียญนับร้อยใบ

ขณะที่บรรยากาศการปล่อยรถทางไกลเที่ยวปฐมฤกษ์ สายกรุงเทพอภิวัฒน์-สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ผู้โดยสาร 171 เป็นไปคึกคักทั้งนักท่องเทียวคนไทยและชาวต่างชาติมาซื้อตั๋วและเข้าแถวรอเพื่อส่งครอบครัวเดินทางกับขบวนรถเที่ยวแรก
เนื่องจากเดิมหากเป็นสถานีหัวลำโพง ผู้มาส่งและผู้เดินทางยังเห็นกันใกล้ชิด และเฝ้ามองจนกระทั่งรถเคลื่อนออกจากสถานี แต่ที่สถานีมีการแบ่งโซนให้เฉพาะผู้โดยสารเท่านั้นขึ้นไปบนชานชาลา

บรรยากาศทั้งผู้โดยสาร และเจ้าหน้าที่จากเดิมที่เคยอยู่กับรางด้านล่าง จึงต้อง เตรียมปรับเวลา และรูปแบบการเดินทาง แต่ภาพประทับที่เกิดขึ้นคือการโบกมือทักทายอย่างเป็นกันเอง บ้างก็ถ่ายเซลฟี และเก็บภาพเป็นที่ระลึก โดยผู้โดยทุกคนจะได้ของที่ระลึกเป็นพวงกุญแจหัวรถจักรไอน้ำ เป็นที่ระลึก
"ศักดิ์สยาม"เปิดหวูดใช้เวลา 2 ปี
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม เผยว่า วันแรกที่มีการเปิดใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อเป็นจุดศูนย์ กลางในการให้บริการรถไฟทางไกลรวม 52 ขบวน ซึ่งเป็นไปตามแผนของกระทรวงคมนาคม ในการปรับแผนการเดินรถทางไกล หลังจากใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการปรับหัวขบวนในการใช้ความเร็วของรถไฟ และมีการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

จากการรับฟังการให้บริการวันแรก อาจจะมีการตั้งคำถามเรื่องการเดินทางมาที่สถานีกลาง จึงเน้นย้ำการขนถ่ายสัมภาระ เพื่ออำนวยความสะดวก ประชาชนที่เดินทางโดยมีรถเข็น และได้เตรียมพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่มีการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงการปรับที่นั่งที่พักคอย
ขณะเดียวกันได้จัดชัทเทิลบัสระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงหัวลำโพง ใน 2 เส้นทาง เส้นทางแรกขึ้นทางด่วน และไม่จอดส่งระหว่างเส้นทาง ส่วนอีกเส้นทางเป็นเส้นทางตามสถานีระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีหัวลำโพง ตั้งแต่ 04.40-23.00 น. ผู้โดยสารสามารถใช้ตั๋วแสดงกับเจ้าหน้าที่ขสมก.ไม่เสียค่าบริการ เบื้องต้นจะจัดรถให้บริการประมาณ 1 ปี
ส่วนสถานีหัวลำโพงยืนยันว่ายังไม่ได้ปิดให้บริการ และมีการเดินรถชานเมืองและเชิงสังคมจำนวน 62 ขบวน
อ่านข่าวเพิ่ม สุดเจ๋ง! สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จัด "2 หุ่นยนต์นำทาง" มาครั้งแรกไม่ต้องกลัวหลง

ทำแบบสอบถามสำรวจความพึงพอใจ
นอกจากนี้ได้สั่งการให้ทำแบบสอบถามความพึงพอใจของประชาชนที่มาใช้บริการ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และการใช้งานชัตเทิลบัส ส่วนการปรับแผนขบวนรถอื่นๆ ที่ให้บริการที่หัวลำโพง เช่น รถไฟชาน เมือง รถไฟสายตะวันออกและรถนำเที่ยว ยังไม่มีแผนในขณะนี้ เนื่องจากต้องรอส่วนต่อขยายสายสีแดงให้แล้วเสร็จก่อน
สำหรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทางรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รฟท.ได้นำเสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในช่วงต้น ก.พ.นี้ มั่นใจว่าทันในรัฐบาลนี้แน่นอน
ส่วนเส้นทางอื่นๆ ประกอบด้วย เส้นทางตลิ่งชัน-ศาลายา, เส้นทางตลิ่งชัน-ศิริราช, เส้นทางบางซื่อ-หัวหมาก และเส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง รฟท.อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีอยู่ระหว่างการดำเนินการของบริษัท เอสอาร์ที แอสเซท จำกัด (SRTA) หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ของ รฟท.
เตรียมพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลาง
รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า เบื้องต้นเตรียมเปิดประมูลพื้นที่แปลง A และแปลง B ก่อน ซึ่งขณะที่เอกสารการประกวดราคา (TOR) แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่น ด้านอสังหา ริมทรัพย์จำนวนกว่า 18 บริษัท ได้สนใจลงทุนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และ
ขณะนี้ SRTAได้ร่วมกับองค์การพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น (UR) ว่าจ้างที่ปรึกษาในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ คาดว่า ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นปีนี้

ส่วนกรณีที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตั้งคำถามเรื่องการห้ามใช้ห้องน้ำ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เนื่องจากห้องน้ำที่บางขบวนยังเป็นระบบเปิด แต่วันนี้มีถังพัก ยอมรับว่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนทั้งหมดได้ทัน เพราะอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน เหลือที่ไม่มีถังพักประมาณ 60%
ส่วนประเด็นการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ วงเงิน 33 ล้านบาท เบื้องต้นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ ประชุม 2 ครั้ง ขอให้รอการแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค.) เบื้องต้น หากเปรียบเทียบ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิต้องดูว่าได้ประโยชน์แค่ไหน และการเปลี่ยนต้องไม่สร้างความสับสนในการจำหน่ายตั๋ว เพราะขณะนี้ในตั๋วระบุว่าเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไม่ใช่สถานีกลางบางซื่อ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: