ฟื้นงานเทศกาลร่มบ่อสร้างฯ หลังวิกฤตโควิด หวังผลักดันงานหัตถกรรมชุมชนสู่ตลาดสากล

ภูมิภาค
21 ม.ค. 66
16:10
1,098
Logo Thai PBS
ฟื้นงานเทศกาลร่มบ่อสร้างฯ หลังวิกฤตโควิด หวังผลักดันงานหัตถกรรมชุมชนสู่ตลาดสากล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ขบวนแม่ญิงขี่รถถีบก๋างจ้อง โดยสาวงามผู้ร่วมประกวดธิดาร่มบ่อสร้าง​ คือ หนึ่งในกิจกรรมงานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพงครั้งที่ 38 ประจำปี2566 ที่ หมู่บ้านบ่อสร้าง หมู่ที่3 ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2566

งานเทศกาลร่มบ่อสร้างฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันศุกร์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ถือเป็นงานเทศกาลร่มที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก แต่วิกฤตโควิด19 ทำให้งานเทศกาลร่มบ่อสร้างว่างเว้นไปถึง 2 ปี จนเมื่อสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น ท้องถิ่น และ ชุมชน จึงได้กลับมาจัดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างฯ อย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง 

 

 

 

นางสาวกัณณิกา บัวจีน ผู้บริหารศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มบ่อสร้าง เปิดเผยว่าชุมชนทำร่มบ่อสร้างไม่ได้มีเฉพาะหมู่บ้านบ่อสร้าง แต่ยังมีอีก 8 ชุมชน ในอำเภอสันกำแพง และ อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งมีช่างทำร่มผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนงช่วยกันประดิษฐ์ชิ้นส่วนต่างๆ ของร่ม ก่อนจะนำมาประกอบขึ้นเป็นตัวร่มที่บ้านบ่อสร้าง

 

 

ร่มบ่อสร้าง จึงเป็นงานศิลปหัตถกรรมซึ่งผลิตขึ้นจากภูมิปัญญาที่ตกทอดจากบรรพบุรุษมากว่า 200 ปี และ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

 

โดยในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ร่มบ่อสร้าง สามารถสร้างรายได้แก่ชาวบ้าน และ ผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่ต่ำกว่าปีละ 300 ล้าน แต่หากรวมเม็ดเงินจากงานหัตถกรรมอื่นๆ อีกหลากหลายแขนง อาทิ เสื้อผ้า เครื่องเงิน และ งานไม้ต่างๆ รวมทั้งธุรกิจห่วงโซ่ ก็ยากที่จะประเมินมูลค่าของแหล่งท่องเที่ยวบ้านบ่อสร้าง

 

นางสาวกัณณิกา ระบุอีกว่า สิ่งที่ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มบ่อสร้างพยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง คือการอนุรักษ์รักษาช่างผู้เชี่ยวชาญการทำร่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นสูงวัย เพื่อให้เป็นกำลังในการประดิษฐ์ร่มให้ได้นานที่สุด โดยป้อนงานให้ช่างมีรายได้ให้เกิดความยั่งยืน มีการยกระดับการทำร่มให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และ ตั้งเป้าหมายว่า ร่มบ่อสร้าง ต้องไม่เป็นเพียงของฝากของที่ระลึก แต่จะต้องเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วโลก และ ผลิตในปริมาณครั้งละมากๆ

 

นางอภัย เขื่อนวงค์วิน อายุ 64 ปี เป็นช่างทำโครงร่ม อยู่ที่บ้านสันต้นแหน ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าเริ่มเรียนรู้การทำร่มจากพ่อ และ แม่ ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โดยส่วนโครงร่มที่ทำ มีหลายขนาด ส่วนที่ยากที่สุดคือการใช้มีดแทงไม้ไผ่ที่้เป็นส่วนของก้านร่มให้เป็นช่องเล็กๆ เพราะต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ให้ไม้ไผ่แตกหักเสียหาย

 

นางอภัยบอกว่า แม้ช่างทำร่ม จะถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดี แต่เพราะเป็นงานหัตถกรรมที่ต้องใช้ความละเอียด และ ใจเย็น ช่างทำร่มจึงแทบไม่มีลูกหลานมาเรียนรู้ เพื่อสานต่ออาชีพนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง