คิวงานแน่นกระแสวัฒนธรรมดนตรีล้านนาประยุกต์

เศรษฐกิจ
18 ก.พ. 66
14:39
288
Logo Thai PBS
คิวงานแน่นกระแสวัฒนธรรมดนตรีล้านนาประยุกต์
การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น บางอย่างเริ่มสูญหาย แต่ก็มีคนรุ่นใหม่บางกลุ่มนำศิลปะการแสดงมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย หวังให้ได้รับความสนใจมากขึ้น

การขับซอประกอบดนตรีที่มีจังหวะสนุกสนานเร้าใจ โดยศิลปินคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ คือ การแสดงซอประยุกต์ หรือ ซอสตริง ของกลุ่มรวมศิลปินล้านนา ที่ได้รับความนิยมจนมีงานแสดงแทบทุกวัน นี้เป็นหนึ่งความพยายามในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงขับซอแบบดั่งเดิม ที่มีการ ขับร้องซอ ประกอบดนตรี สะล้อ ซอ ซึง ในท่วงทำนองเนิบช้า อาจไม่เป็นที่นิยมในยุคปัจจุบัน

 

นายวัชรินทร์ ยอดคำเหลือง หัวหน้าทีมงานรวมศิลปินล้านนา กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ ช่วงอายุ 20-30 อาจไม่ชอบฟังซอเหมือนคนยุคก่อน ซึ่งจะเน้นความบันเทิงมากกว่า ดังนั้นช่างปี่ ช่างซอ หรือว่า คนรับงาน หรือคนจัดงานอย่างตน ก็ต้องปรับรูปแบบการแสดง ให้เข้ากับกลุ่มคนฟัง เพื่อให้ธุรกิจยังเดินต่อไปได้

ขณะที่ การแสดงฟ้อนเล็บ ซึ่งมีท่ารำที่อ่อนช้อย การเคลื่อนไหวที่เนิบช้า พริ้วไหว สอดประสานอย่างกลมกลืนกับท่วงทำนองดนตรี กลายเป็นอัตลักษณ์นาฏศิลป์อย่างหนึ่งของล้านนา ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนพยายามสืบทอด และเสนอให้มีการบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน

 

นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กล่าวว่า วิชาที่สามารถแทรกไปในวิชาศิลปะได้ไม่จำเป็นต้องเรียนนาฏศิลป์ของทางภาคกลาง มีหลายอย่างให้ได้เรียนรู้มากมาย หากระบบการสอนในโรงเรียนเพิ่มเข้าไปให้เด็กได้รับรู้เรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้าน มองว่านี้เป็นโอกาสที่จะสืบสานต่อไปได้ 

นายวัลลพ นามวงศ์พรหม รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ศิลปวัฒนธรรมมีการพัฒนาปรับปรุง สร้างสรรค์ให้เจริญงอกงาม หล่อหลอมให้คนเกิดความรัก ความสามัคคี ถือเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงของชาติ
การที่คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจสืบทอดนับเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง แต่การนำมาประยุกต์ต้องอยู่ในกรอบ และต้องไม่ทิ้งเอกลักษณ์เดิม

ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในเยาวชน สิ่งนี้จะมีอิทธิพลมากที่จะทำให้ศิลปะวัฒนะธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีอันงดงาม เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง