“สามล้อถีบ” ไร้คนรุ่นใหม่สืบทอด นับถอยหลังสู่ตำนาน

ไลฟ์สไตล์
19 ก.พ. 66
10:41
2,385
Logo Thai PBS
“สามล้อถีบ” ไร้คนรุ่นใหม่สืบทอด นับถอยหลังสู่ตำนาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“สามล้อถีบ” เอกลักษณ์คู่เมืองเชียงใหม่ ที่เหลือ 28 คัน ไม่มีคนรุ่นใหม่สืบทอดต่ออาชีพนี้ มีแต่จำนวนจะลดลง อีกไม่นานจะกลายเป็นตำนานในที่สุด
รถสามล้อถีบมีแต่จะลดลงไม่มีเพิ่มขึ้น มีสิทธิ์หมดไปในไม่ช้า

“รถสามล้อถีบ” อีกหนึ่งเอกลักษณ์และส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน

โลกหมุนเปลี่ยนไปตามกาลแห่งเวลา จากในอดีตสามล้อถีบเป็นรถที่นิยมกันมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีการขนส่งในเชียงใหม่ มียานพาหนะเกิดขึ้นมากมาย ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่รวดเร็วและสะดวกในการเดินทาง ผู้คนมีตัวเลือกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบันผู้คนใช้บริการรถสามล้อถีบลดน้อยลง เฉกเช่นคนปั่นสามล้อที่ลดจำนวนลงตามไปด้วย

ในอดีตสามล้อถีบพบเจอได้โดยทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ ลูกค้าที่ใช้บริการจะเป็นคนในพื้นที่ ที่พาลูกหลานไปส่งโรงเรียน ไปตลาด หรือ ไปทำธุระต่างๆ แต่ในปัจจุบันสามล้อถีบพบเจอได้ไม่ง่ายนัก

ลุงจัน นั่งรอลูกค้าอยู่บนสามล้อถีบย่านกาดหลวง หรือ กาดวโรรส ลุงจันในวัย 67 ปี เล่ากับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ยึดอาชีพปั่นสามล้อหาเงินเลี้ยงครอบครัวมานานกว่า 50 ปีแล้ว เกือบทั้งชีวิตที่ผูกพันกับอาชีพนี้

บางวันลุงจันแทบจะไม่มีลูกค้ามาใช้บริการเลย อาจจะมีบ้างในบางวันที่แม่ค้าในละแวกนั้นจ้างบรรทุกของในราคา 30-50 บาทต่อเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำที่ใช้บริการกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งต่างกับอดีตที่มีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาดสายในแต่ละวัน

ไม่ต่างอะไรกับ ลุงชิด อายุ 73 ปี ที่จอดรอลูกค้าในบริเวณเดียวกันนี้ บอกว่าปั่นสามล้อมากว่า 40 ปี บางวันก็มีลูกค้ามาใช้บริการวันละ 1-2 เที่ยว ส่วนตอนโควิดระบาดก็ต้องหยุดพักชั่วคราว รายได้ก็ไม่มีเข้ามาเลย

ช่วงนี้สถานการณ์โควิดคลี่คลายก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาบ้าง บางคนอยากลองนั่งสามล้อ แต่ส่วนใหญ่ก็จะไปในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก เช่น วัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์

วันไหนมีกรุ๊ปทัวร์ ก็จะได้เที่ยวละ 200-300 บาท จากกาดหลวงไปวัดใดวัดหนึ่งในเมือง เคยมีได้ 2-3 งานในวันเดียว แต่ก็ไม่ได้บ่อยมากนัก

โดยลุงชิดจะมารอลูกค้าตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. ทุกวันจะปั่นสามล้อไปจอดไว้บ้านคนรู้จัก ก่อนจะโบกรถกลับบ้านที่อยู่นอกตัวเมืองออกไป เช้าก็จะนั่งรถโดยสารประจำทางมาลง ณ จุดที่จอดรถ แล้วก็ปั่นสามล้อเข้าเมือง ที่เป็นเช่นนี้ลุงชิดให้เหตุผลว่า เพราะที่ทำกินอยู่ในเมือง รอบนอกไม่ค่อยมีคนใช้บริการ

ลูกค้าก็จะเป็นแม่ค้าในตลาด จ้างขนของไปที่จอดรถ บ้างคนพื้นที่รอบตลาดที่มาจับจ่ายซื้อของก็จะมาใช้บริการ

ขณะที่ ลุงถวิล อายุ 79 ปี บอกว่า ในปัจจุบันรถสามล้อถีบเหลือน้อยลงมาก เพราะไม่มีคนสานต่อแล้ว

ลุงมานิตย์ อายุ 71 ปี ผู้ที่รักในอาชีพนี้ เล่าว่าปั่นสามล้อมาตั้งแต่วัยหนุ่ม

ในอนาคตหมดรุ่นนี้แล้ว สามล้อถีบก็คงเหลือไว้แค่ตำนาน ส่วนตนเองนั้นก็จะปั่นสามล้อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว

ทั้งนี้มีหลายหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมการท่องเที่ยวอนุรักษ์วิถีล้านนานี้ให้คงอยู่ไว้คู่เมืองเชียงใหม่ 

น.ส.จิตเมตตา นันทขว้าง ประธานโครงการสามล้อโรตารีเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสามล้อถีบในเมืองเชียงใหม่เหลือแค่ 28 คัน ทุกคนล้วนเป็นผู้สูงอายุ อยู่ในช่วงระหว่าง 60-85 ปี

ซึ่งทางโครงการได้เข้ามาช่วยเหลือดูแล โดยการปรับปรุง ซ่อมแซม เน้นความสะอาด เปลี่ยนภาพลักษณ์ เครื่องแต่งกาย รวมถึงการฝึกอบรมภาษาเบื้องต้น ให้มีมาตรฐานในการให้บริการนักท่องเที่ยว
รวมถึงมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้รถสามล้อถีบให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมาแล้ว 7-8 ปี

จากเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว รถสามล้อถีบมี 60 คน แต่ตอนนี้เหลือแค่ 28 คัน หลายคนเลิกทำอาชีพนี้ หลายคนก็ล้มหายตายจากไป

หลายๆ คนคงมองว่าไม่กล้าใช้บริการสามล้อถีบเนื่องจากคนปั่นสามล้อเป็นผู้สูงอายุ แต่จริงๆ แล้ว นักปั่นทุกคนล้วนมีร่างกายที่แข็งแรง เรียกได้ว่า แรงดี ไม่มีตก เพราะได้ปั่นสามล้อออกกำลังกายทุกวัน

รถสามล้อถีบ นอกจากจะเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ จ.เชียงใหม่ ยังเป็นการเดินทางที่ไม่มีมลพิษทางอากาศ เพราะใช้แรงงานจากคนล้วนๆ การได้นั่งสามล้อถีบเสมือนเป็นการย้อนเวลาสู่อดีต สู่ชีวิตที่ไม่เร่งรีบ ชิลๆ แบบ Slow life ได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนสองข้างทาง และที่สำคัญเป็นการสร้างรายได้ให้กับคุณลุงนักปั่นด้วย

สามล้อถีบอาชีพที่ล้วนแต่มีคนชรา และด้วยอาชีพนี้ไม่มีคนรุ่นใหม่สานต่อ เนื่องจากมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่น่าสนใจ สุดท้ายแล้วสามล้อถีบก็ต้องจากไป กลายเป็นตำนานในที่สุด และต่อไปเราอาจจะพบเห็นสามล้อถีบแค่ตามโรงแรม ตามร้านอาหาร ที่แสดงโชว์นักท่องเที่ยว หรือไม่ก็ในภาพถ่ายเท่านั้นเอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“วัยรุ่นรถแดง” พาเที่ยว - แถมฟรีช่างภาพ เพิ่มทางเลือกนักท่องเที่ยว

เชียงใหม่ที่เปลี่ยนไปในจังหวะ "ต๊ะ ต่อน ยอน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง