เทคโนโลยีจากหนัง "อวตาร" สู่อุปกรณ์วินิจฉัยโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

Logo Thai PBS
เทคโนโลยีจากหนัง "อวตาร" สู่อุปกรณ์วินิจฉัยโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมนักวิจัยได้แนวคิดจากหนัง "อวตาร" (Avatar) นำชุดตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Capture Suit) อย่างที่นักแสดงใช้ใส่ในการถ่ายทำ มาสวมให้ผู้ป่วยเพื่อช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคทางเดินประสาทได้เร็วยิ่งขึ้น

ชุดตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Capture Suit) คืออุปกรณ์ที่นักแสดงภาพยนตร์สวมใส่ ซึ่งมีเซนเซอร์ที่อยู่ตามจุดต่าง ๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้า เพื่อให้ผู้ถ่ายทำภาพยนตร์สามารถนำข้อมูลการเคลื่อนไหวของนักแสดงมาสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก (CGI) ขึ้นมาภายหลังได้ อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่องอวตาร ที่มีการใช้ชุดตรวจจับการเคลื่อนไหวกับนักแสดงที่เล่นเป็นมนุษย์ต่างดาวตัวสีฟ้าเกือบตลอดทั้งเรื่อง

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Imperial College London และ University College London จึงได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่องอวตาร และนำเทคโนโลยีชุดตรวจจับการเคลื่อนไหวนี้ มาทำชุดให้คนไข้สวมใส่ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังเผชิญโรคเกี่ยวกับความเสื่อมถอยของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Duchenne Muscular Dystrophy) และโรคกล้ามเนื้อสูญเสียเสียการประสานงาน (Friedreich Ataxia) ซึ่งมักปรากฏอาการแรกเริ่มในวัยเด็กและวัยรุ่น

โดยโรคประเภทนี้เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวไปทีละน้อย จนกระทั่งเป็นอัมพาตในที่สุด แต่ทว่าเมื่อเหล่านักวิจัยเริ่มทดลองให้ผู้ป่วยใส่ชุดนี้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดิน ยืน และนั่ง ทีมผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้ภาพเคลื่อนไหวที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์และ AI ช่วยในการตรวจประเมินและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ผลการวิจัยพบว่า AI สามารถคาดการณ์ความเสื่อมถอยของโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานได้ภายใน 12 เดือน และยังสามารถคาดการณ์ผลกระทบของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในอนาคตล่วงหน้าถึง 6 เดือน ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าที่แพทย์คาดการณ์ไว้

ดังนั้นวิธีการนี้จึงมีศักยภาพในการตรวจจับการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถสังเกตเห็นเองได้ การใช้เทคโนโลยีชุดตรวจจับการเคลื่อนไหวนี้จึงสามารถช่วยเหลือแพทย์และอาชีพที่เกี่ยวข้องในการตรวจหาและวินิจฉัยโรคนี้ได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น 

ที่มาข้อมูล: BBC , Imperial College London
ที่มาภาพ: 20th Century Studios
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง