ป่วยจิต-ซึมเศร้าสถิติไทยพุ่ง 1-2%

สังคม
23 ก.พ. 66
10:43
16,241
Logo Thai PBS
ป่วยจิต-ซึมเศร้าสถิติไทยพุ่ง 1-2%
กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยเครียดป่วยจิตเพิ่ม-ซึมเศร้าเพิ่ม 1-2% สถิติปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคนสอดคล้องผลการศึกษาของ WHO ชี้ ปี 2572 โรคซึมเศร้าอันดับ 2 ทะยานภาระโรคระดับโลก

วันนี้ (23 ก.พ.2566) นพ.อภิชาติ จริยาวิลาส โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้น องค์การอนามัยโลกมีการประเมินว่ามีจำนวนกว่า 5% ของประชากรปกติ ขณะที่การศึกษาของสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปพบว่าสูงถึง 10% ส่วนอัตราของไทยอยู่ที่ 1-2% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีผู้ที่ทราบว่าตนเองมีอาการป่วยแล้วมาหาแพทย์เพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการป่วยน้อยลง เพราะเข้าถึงการบำบัดรักษาเร็ว

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยทางจิตเวช หรือมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจริงๆ ตัวเลขอาจจะไม่มากเพิ่มจากเดิม เพราะคนไม่รู้ว่าตัวเองป่วย อาย หรืออาจมีความเข้าใจเรื่องโรคยังไม่มากพอ ทำให้เข้าใจผิด จึงไม่ได้มาพบจิตแพทย์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่บีบุ้นทั้งจากปัญหาครอบครัว สังคม เครียด ทำให้มีผู้ป่วยจิตเวชและคนเป็นซึมเศร้ามากขึ้นด้วย

ทางเลือกบำบัดอาการซึมเศร้า 

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตและซึมเศร้า มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ หลักๆ คือการใช้ยา นอกจากนี้อาจใช้วารีบำบัด สัตว์เลี้ยง ตุ๊กตา ศิลปะ กีฬา ดนตรี คือต้องดูว่าผู้ป่วยมีความชอบ หรือสนใจอะไร

แพทย์จะเป็นผู้เลือกให้กับผู้เข้ารับการรักษาว่าอะไร เหมาะสมกับใคร แพทย์จะใช้หลายๆ วิธีให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนแต่หลักๆคือ การใช้ยา และทำจิตบำบัด

ข้อมูลจากศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ระบุว่า โดยเฉลี่ยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 100 คน จะเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น พบว่าเพศหญิงมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย แต่เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า และผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก พยากรณ์ไว้ใน Provisional agenda item 6-2 ว่า ตั้งแต่ปี 2554 ในปี 2572 นั้นโรคซึมเศร้า จะขึ้นมาเป็นสาเหตุของภาระโรคในระดับโลก และการเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายอันดับ 2 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี ซึ่งเป็นวัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังหลักให้กับประเทศชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง