คนแรก! เด็กกัมพูชาตายจากไข้หวัดนก H5N1

สังคม
23 ก.พ. 66
18:45
680
Logo Thai PBS
คนแรก! เด็กกัมพูชาตายจากไข้หวัดนก H5N1
นักไวรัสวิทยา เตือนไทยเฝ้าระวังหลังกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา ยืนยันพบเด็กหญิงวัย 11 ปีเสียชีวิตจากไข้หวัดนก H5N1 คนแรก

วันนี้ (23 ก.พ.2566) สำนักข่าว AP รายงานว่า เด็กหญิงวัย 11 ปีในกัมพูชาเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ H5N1 โดยถือเป็นเคสแรกในรอบหลายปีของกัมพูชา

เด็กหญิงคนดังกล่าว เริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา และถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงพนมเปญ และมีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส มีอาการไอและเจ็บคอ และเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งนี้ แพทย์ระบุว่าสาเหตุจากการติดเชื้อไข้หวัดนก

ต่อมากระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่เข้าตัวอย่างนกป่าที่ตายในพื้นที่อนุรักษ์ใกล้บ้านของเด็กหญิงคนดังกล่าว และมีการแถลงการณ์อีก 1 ฉบับเตือนประชาชนเกี่ยวกับการสัมผัสนกที่ตายและป่วย

มัม บุนเฮง รัฐมนตรีสาธารณสุขกัมพูชา เตือนว่าไข้หวัดนกมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่อาจให้อาหารหรือเก็บไข่จากสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ เล่นกับนก หรือทำความสะอาดกรง

เตือนไทยเฝ้าระวังสัตว์ปีก-หมู 

ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า  

รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชาเมื่อวานนี้ พบเคสเด็กหญิงอายุ 11ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เด็กหญิงรายนี้เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 16 กพ. ด้วยอาการไข้สูง ไอ และเจ็บคอ หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่น แล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการหายใจติดขัดผิดปกติ ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเด็กแห่งชาติที่กรุงพนมเปญ วันที่ 21 กพ. แพทย์ส่งตัวอย่างไปตรวจ และผลออกมาวันรุ่งขึ้นพบว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 โดยผู้ป่วยเสียชีวิต

ในช่วงที่ H5N1 มีการระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดและในหลายพื้นที่ การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในภูมิภาคใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงเป็นอะไรที่ต้องเฝ้าระวังอย่างจริงจัง การติดเชื้อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดีขึ้น ทำให้ส่วนตัวกังวลไปที่สุกรเพราะสุกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่ติดไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี และสามารถเป็นแหล่งสร้างไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆได้ เหมือนกรณีไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็มาจากสุกรสู่คนเช่นกัน

ที่มา : AP/เฟซบุ๊กดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง