"หมอนิธิพัฒน์" ห่วงแม่ตั้งครรภ์รับฝุ่น PM2.5 สูงเสี่ยงลูกพิการแรกคลอด

สังคม
9 มี.ค. 66
08:34
941
Logo Thai PBS
"หมอนิธิพัฒน์" ห่วงแม่ตั้งครรภ์รับฝุ่น PM2.5 สูงเสี่ยงลูกพิการแรกคลอด
"หมอนิธิพัฒน์" เปิดเผยงานวิจัยหญิงตั้งครรภ์ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น PM2.5 เสี่ยงทารกคลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อยและยังเสี่ยงพิการแรกคลอด โดยเฉพาะกลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2566 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งหากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น PM2.5 สูงในระหว่างที่อุ้มท้องรอคลอด นอกจากจะเสี่ยงต่อทารกที่คลอดมาน้ำหนักตัวน้อยและเจ็บป่วยง่ายแล้ว ยังเสี่ยงต่อความพิการแรกคลอด โดยเฉพาะกลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

นอกจากนี้ยังระบุถึงการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารของสมาคมหัวใจแห่งอเมริกา โดยมีการนำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาจาก 30 จังหวัดในประเทศจีน ระหว่างปี 2557-2560 ซึ่งมีเด็กทารกที่คลอดในช่วงเวลานั้น 1,434, 998 คน พบเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 7,335 คน

จึงได้เปรียบเทียบปริมาณ PM2.5 ที่แม่ของทารกดังกล่าวได้รับเข้าไปในช่วงที่อุ้มท้อง พบว่าค่าเฉลี่ย PM2.5 ที่บรรดาแม่กลุ่มนี้ได้รับคือ 56.51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม.ที่ปริมาณฝุ่นสูงขึ้น จะพบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว คำนวณเป็นความเสี่ยงได้ 1.04 เท่า

สำหรับผลร้ายของฝุ่นต่อหัวใจทารกจะพบมากขึ้น หากแม่ได้รับฝุ่นเข้าไปมากตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิสนธิ นอกจากนี้แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และแม่ที่มีฐานะยากจนจะพบความเสี่ยงนี้ได้มากขึ้น

เด็กเล็กสัมผัสฝุ่นทำคุณภาพการนอนแย่ลง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ยังเรียกร้องให้มีการเร่งแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยอ้างอิงบทความเรื่องผลของ PM2.5 ต่อทารกในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก ซึ่งจากการติดตามเด็กอนุบาล 115,023 คน จาก 551 เมืองในประเทศจีน พบว่าการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ที่สูงตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก สัมพันธ์กับการมีคุณภาพการนอนในวัยเด็กที่แย่ลง โดยเฉพาะหากสัมผัสฝุ่นที่สูงในช่วงอายุ 0-3 ปี จะเกิดมากกว่าถ้าสัมผัสในช่วงที่ยังไม่คลอดออกมา

ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กมีปัญหาการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน และภาวะง่วงนอนมากตอนกลางวัน เด็กที่แรกคลอดไม่แข็งแรงต้องเข้าไอซียูจะพบความผิดปกติได้มากขึ้น และที่น่าแปลกใจคือเด็กที่กินนมแม่จนถึง 6 เดือน ก็พบความผิดปกติมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม สุขภาวะการนอนของเด็กที่ถูกรบกวนโดยเฉพาะการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน อาจทำให้พัฒนาการทางสมองถูกกระทบกระเทือนตามไปด้วย

หมอแนะวิธีปฏิบัติหากเผชิญค่าฝุ่นสูง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ แนะนำการดูแลตัวเองในสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM2.5 โดยให้หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชน หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม

เมื่อค่า PM2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ ควรปฏิบัติดังนี้

1. สูงกว่า 50 มคก./ลบ.ม. กลุ่มเสี่ยง (เด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง) งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

2. สูงกว่า 100 มคก./ลบ.ม. ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา

3. สูงกว่า 150 มคก./ลบ.ม. ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที

ขณะที่การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายเกิดพิษภัยได้น้อยลง แต่ควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้ง ขณะที่การออกกำลังกายในร่มควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

นอกจากนี้ การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอจะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM2.5 ที่เล็ดรอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น ส่วนการกินผักและผลไม้จะช่วยเสริมการทำงานของระบบแอนติออกซิแดนท์ ช่วยลดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อจากพิษของฝุ่นได้ และการอยู่ในบริเวณที่มีพืชใบเขียวจะช่วยดูดซับฝุ่นในอากาศได้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2 เดือน ป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคน

เช็กด่วน! กทม.ฝุ่นจิ๋วเกิน 7 วันติดอะไรที่ต้องห้ามทำ

ฝุ่นพิษ 48 จว. "ป่าตะวันตก" อ่วมขอฝนหลวงดับไฟป่า 11-13 มี.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง