นาซาพบ "เนินทราย" รูปวงกลมสีดำ บนพื้นผิวดาวอังคาร

Logo Thai PBS
 นาซาพบ "เนินทราย" รูปวงกลมสีดำ บนพื้นผิวดาวอังคาร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซา ค้นพบ "เนินทราย" รูปวงกลมสีดำ ทางตอนใต้ของดาวอังคาร ซึ่งได้มอบเบาะแสสำคัญของรูปแบบสภาพอากาศที่แตกต่างจากโลก

ภาพเนินทรายรูปวงกลมสีดำนี้ ถูกถ่ายไว้ได้โดยยานอวกาศ Mars Reconnaise Orbiter หรือ MRO ที่ได้ถูกส่งไปประจำการอยู่บนวงโคจรของดาวอังคาร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ซึ่งได้ติดตั้งกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงเอาไว้ คล้ายกับดาวเทียมสำรวจทรัพยากรบนโลก

โดยภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพ 60 ภาพ ที่ได้มาจากพื้นที่ทางตอนใต้เส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร ขณะที่หิมะจากคาร์บอนไดออกไซด์แข็งกำลังระเหิดกลายเป็นไออย่างช้า ๆ เมื่อฤดูหนาวเริ่มผ่านพ้นไป ก่อนที่จะเปิดเผยให้เห็นเนินทรายรูปทรงแปลกประหลาดนี้ในที่สุด ซึ่งผลการวิเคราะห์ค้นพบว่ามันไม่ได้มีลักษณะเป็นวงกลมสมบูรณ์เสียทีเดียว และยังมีเนินทรายไปกองกันบริเวณทางตอนใต้ของวงกลมอีกด้วย อันเป็นหลักฐานชี้ชัดว่าลมกำลังพัดไปทางใต้ในช่วงฤดูกาลนี้

อย่างไรก็ตาม การที่ดาวอังคารมีลมนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าดาวอังคารจะมีอากาศที่หายใจได้เหมือนโลกเสมอไปเพราะชั้นบรรยากาศของดาวอังคารนั้นเบาบางมาก เพียงแค่ 0.06% เมื่อเทียบกับโลก คล้ายกับการที่เมื่อเรายิ่งปีนเขาสูงไปเรื่อย ๆ อากาศก็จะยิ่งบางลงจนไม่สามารถหายใจได้เพราะมีปริมาณความหนาแน่นของแก๊สต่ำ ซึ่งความดันบรรยากาศของดาวอังคารนั้นเทียบได้กับอากาศที่ความสูง 35 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเลบนโลก ขณะที่โดยปกติแล้วมนุษย์จะเริ่มหมดสติที่ระดับความสูง 8 กิโลเมตร

แต่ถึงแม้ว่าดาวอังคารจะมีความดันบรรยากาศที่ต่ำเพียงใด เมื่อนักดาราศาสตร์ได้นำภาพ ๆ นี้ไปเทียบกับภาพอื่น ๆ ที่ยาน MRO เก็บรวบรวมมาเป็นระยะเวลาหลายปี เราจึงทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าสายลมบนดาวอังคารนั้นทรงพลังเพียงพอ ที่จะผลักเนินทรายบริเวณซีกใต้ให้เคลื่อนตัวลงใต้ในอัตรา 1 เมตรต่อ 1 ปีดาวอังคาร หรือราว 687 วันบนโลก ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะช่วยให้ดาราศาสตร์เข้าใจรูปแบบสภาพอากาศที่แตกต่างจากบนโลกของเรามากขึ้น

ที่มาข้อมูล: NASA , SPACE.COM
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง