วิกฤต "เครดิต สวิส" นับถอยหลังวิกฤตการเงินโลก ?

เศรษฐกิจ
16 มี.ค. 66
19:48
1,073
Logo Thai PBS
วิกฤต "เครดิต สวิส" นับถอยหลังวิกฤตการเงินโลก ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หุ้นธนาคารทั้งตลาดสหรัฐฯ และยุโรปปั่นป่วนอย่างหนักในวันนี้ (16 มี.ค.) จนทำให้ตลาดหุ้นดิ่งลงแรง ความวุ่นวายครั้งนี้นำโดยหุ้นของ "เครดิต สวิส" เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินของธนาคาร

ปัญหาการเงินของ "เครดิต สวิส" มีมานาน แต่สาเหตุที่ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นเครดิต สวิส เพราะซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ประกาศว่าไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินให้กับเครดิต สวิส ได้อีก

เครดิต สวิส เป็นธนาคารอันดับ 2 ของสวิสเซอร์แลนด์ ที่สำคัญนอกจากความเก่าแก่ ยังมีธุรกรรมโยงใยไปทั่วโลก จึงเป็นที่มาของคำว่า "ล้มไม่ได้"

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครดิต สวิส เจอเรื่องอื้อฉาวมาหลายครั้ง รวมถึงข้อหาฟอกเงิน และในระหว่างปี 2564-2565 ธนาคารสูญเสียเงินมหาศาล ถือเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของธนาคาร โดยตัวเลขขาดทุนล่าสุด ไตรมาส 4 ปี 2565 ธนาคารขาดทุนสุทธิ 1,400 ล้านฟรังก์สวิส คิดเป็นเงินไทยประมาณ 52,000 ล้านบาท และเมื่อดูภาพรวมทั้งปี ยอดขาดทุนอยู่ที่ 7,300 ล้านฟรังก์สวิส หรือ 270,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ลูกค้ายังแห่ถอนเงินฝากมากกว่าแสนล้านฟรังก์สวิส ในไตรมาส 4 ปี 2565 ส่วนหุ้นของธนาคารได้รับผลกระทบหนัก มูลค่าหายไปเหลือ 2 ใน 3 ของเมื่อปี 2565

ข้อมูลจากเครดิต สวิส รายงานว่า ธนาคารมีสำนักงานมากกว่า 150 แห่งใน 50 ประเทศทั่วโลก ส่วนไทยมีการดำเนินงานผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส ประเทศไทย

แม้หลายคนจะห่วงเรื่องแบงก์ล้ม แต่หากดูสถานการณ์ขณะนี้นี่อาจเป็นกรณีของ "องค์กรใหญ่ที่รัฐปล่อยให้ล้มไม่ได้" เพราะล่าสุด ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ให้คำมั่นว่าจะจัดหาสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือ เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเงินโลก

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคาร ยังมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบกับสถาบันการเงินไทย​ เพราะธนาคารไทยไม่ได้มีการกู้เงินหรือลงทุนในต่างประเทศมาก และฐานะการเงินธนาคารพาณิชย์ในไทยมีความแข็งแกร่ง​

ส่วนตลาดหุ้นไทยตอบรับข่าวนี้ไม่ต่างจากตลาดหุ้นทั่วโลก นักลงทุนเทขายหุ้นไทยไปแล้วมากกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายพยายามออกมาบอกว่ากรณี SVB ห่างไกลไทยมาก เพราะธุรกรรมเชื่อมโยงต่ำ แต่กรณี "เครดิต สวิส" มีผู้ลงทุนถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนไทยผ่านเครดิต สวิส ในสาขาสิงคโปร์ จำนวน 16 บริษัท คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

แต่นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ความเกี่ยวข้องกับธุรกรรมไทยยังมีข้อจำกัด

วิกฤตสภาพคล่องสถาบันการเงินที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 21-22 มี.ค.นี้ ถูกจับจ้องเป็นพิเศษว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่

ด้านฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ วิเคราะห์ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกดดันให้เฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยของไทย

ขณะที่นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และเครดิต สวิส เป็นเหมือน "หนังตัวอย่าง" ความเสียหายจากวิกฤตเงินเฟ้อ ซึ่งมักจบลงที่ "เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย"

แม้ไทยจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และสถาบันการเงินแข็งแกร่ง แต่เสถียรภาพนั้นไม่ได้การันตรีว่าเศรษฐกิจไทยจะดี จึงเตือนคนไทยเตรียมรับมือ รักษางานที่กำลังทำอยู่และก่อหนี้อย่างระมัดระวัง ส่วนรัฐบาลและพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียง ควรมุ่งทำนโยบาย "สร้างรายได้สูงให้ประชาชน" ไม่ใช่นโยบาย "พักหนี้" แบบที่เป็นอยู่

อ่านข่าวอื่นๆ

นักวิเคราะห์การเงินชี้ แบงก์สหรัฐฯ ล้ม กระทบการเงินไทยในวงจำกัด

บทวิเคราะห์ : 6 ปี “บัตรสวัสดิการ” งบทะลุ 3.3 แสนล้าน ช่วย “คนจน” จริงไหม?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง