นักวิเคราะห์การเงินชี้ แบงก์สหรัฐฯ ล้ม กระทบการเงินไทยในวงจำกัด

เศรษฐกิจ
14 มี.ค. 66
17:47
876
Logo Thai PBS
นักวิเคราะห์การเงินชี้ แบงก์สหรัฐฯ ล้ม กระทบการเงินไทยในวงจำกัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจเชื่อว่าปัญหาธนาคารในสหรัฐฯ ถูกปิดกิจการจะไม่ขยายวงกว้าง ขณะที่ทางการสหรัฐฯ และธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เร่งออกมาตรการ ดูแลผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน เพื่อสกัดไม่ให้ผลกระทบ กลายเป็นชนวนความเสี่ยงในระบบ ส่วนผลกระทบต่อไทยจะอยู่ในวงจำกัด

นักลงทุนยังคงกังวลต่อปัญหาการปิดกิจการของธนาคาร ซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley) ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบ โดยหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงอย่างหนัก แต่ดัชนี Nasdaq กลับปิดในแดนบวก หลังคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

ดัชนีที่ตลาดสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2566 พบว่า

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 31,819.14 จุด ลดลง 90.50 จุด
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,855.76 จุด ลดลง 5.83 จุด
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,188.84 จุด เพิ่มขึ้น 49.96 จุด

ปัจจุบัน มี 3 ธนาคารที่ถูกปิดไป แต่ตลาดจับตาไปที่ธนาคาร ซิลิคอน แวลลีย์ มากที่สุด เพราะมีสินทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 16 ของสหรัฐฯ และวิกฤตการณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่สุดของภาคธนาคารสหรัฐฯ นับตั้งแต่ กรณี เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลายเมื่อปี 2551 

ธนาคาร ซิลิคอน แวลลีย์ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ในช่วงโควิด-19 ธุรกิจเทคโนโลยีเฟื่องฟูมาก เงินฝากในธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ เพิ่ม 2 เท่า ธนาคารได้นำเงินฝากดังกล่าวไปลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว และ เสี่ยงต่ำ

แต่หลังโควิด-19 คลี่คลาย ดอกเบี้ยก็ปรับสูงขึ้น การระดมทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มฝืด และมีการถอนเงินออกไปเพื่อเอาเงินสดไปหมุนเวียน ธนาคารก็ต้องหาเงินมาคืนผู้ฝาก ด้วยการขายพันธบัตรทั้งที่ขาดทุน ซึ่งธนาคารขาดทุนมากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน ภัทร บอกว่าปัญหาครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์เหมือนในอดีต โดยธนาคารลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเกินครึ่ง และพันธบัตรรัฐบาลที่มีการขาดทุน เป็นเพราะดอกเบี้ยปรับขึ้น

เมื่อไปดูการปล่อยกู้ของธนาคาร มีเพียง 1 ใน 3 ของสินทรัพย์ และหนี้เสียก็มีน้อยกว่า ร้อยละ 1 

แบงก์สหรัฐฯ ล้ม กระทบไทยจำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าปัญหาความอ่อนแอของธนาคารในสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อไทยทางอ้อม ผ่านความผันผวนของตลาดการเงิน ส่วนผลกระทบทางตรงยังจำกัด

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีสภาพคล่องและเงินกองทุนที่มั่นคง มีการกระจายตัวของโครงสร้างสินทรัพย์และเงินฝากที่ดีกว่า อีกทั้งพฤติกรรมลูกค้าแตกต่างจากสหรัฐฯ

ที่สำคัญ ยังมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและใกล้ชิดของแบงก์ชาติ
จึงเชื่อมั่นว่าธนาคารไทยจะไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนสหรัฐฯ

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าผลกระทบต่อไทยมีจำกัด

เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทย มีธุรกรรมโดยตรงกับ ธนาคาร ซิลิคอน แวลลีย์ และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยในฟินเทค และ สตาร์ทอัป ทั่วโลกมีน้อยกว่าร้อยละ 1 ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พร้อมย้ำว่า การกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจระดมเงินทุน มีความเข้มงวด 

สำหรับการคุ้มครองเงินฝาก ไทยมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง 32 แห่ง แต่หากสถาบันเหล่านี้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต DPA จะทำหน้าที่จ่ายคืนเงินฝากภายใน 30 วัน กำหนดวงเงินคุ้มครองอยู่ที่ 1,000,000บาท / 1 รายผู้ฝาก / 1 สถาบันการเงิน

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ตลาดเริ่มประเมินว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยโอกาสที่ FED จะกลับไปขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเริ่มมีน้อยลง อย่าง SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า FEDจะขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ในการประชุมเดือนมีนาคม

อ่านข่าวเกี่ยวกับ SVB เพิ่ม :

วิกฤตธนาคารสหรัฐฯ กระทบตลาดหุ้น ชาวอเมริกันแห่ถอนเงิน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง