กรณีสีกา ก. ไม่ใช่คดีแรกที่สีกามีข่าวพัวพันกับพระสงฆ์ แต่อะไรเป็นปัจจัยหรือแรงจูงใจที่ทำให้ผู้หญิงก้าวเกินขอบเขตเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ ทั้งที่รู้ว่าสังคมไทยไม่ยอมรับและส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาในพุทธศาสนา
มุมมองนักจิตวิทยา "อัญชลี แสงชาญชัย" ประธานที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร พิชญานิน คลินิก เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือปัจเจกบุคคล ที่ไม่เกี่ยวกับความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาที่ลดน้อยถอยลง แต่ปัจจัยหลักคือเจตนาลึกๆ และมีแรงจูงใจของบุคคล ซึ่งในกรณีนี้คือหญิงที่หวังผลของการกระทำโดยไม่สนใจศีลธรรม
หากดูจากการกระทำอาจเข้าข่ายโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม หรือ Antisocial Personality Disorder ลักษณะของคนกลุ่มนี้คือ การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำอะไรก็ได้ที่ได้ประโยชน์กับตนเอง ขาดความเห็นอกเห็นใจ ขาดจิตสำนึก บางครั้งก็ไม่เกรงกลัวต่อบาป แต่ขอให้ได้สิ่งที่ต้องการ
ในกรณีนี้ อาจเป็นความต้องการมีอำนาจเหนือเพศชายที่สูงส่ง มีปมในใจเกี่ยวกับผู้ชายที่ดีเกินไป หรือเอื้อมไม่ถึง การครอบครองพระสงฆ์อาจเป็นการท้าทายศีลธรรม หรือเป็นการเติมเต็มความรู้สึกที่เหนือคนอื่น เพื่อแก้ไขปัญหาปมในใจจากวัยเด็กหรือการเลี้ยงดูในอดีต จากนั้นจะเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ หากไม่ได้ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นภายหลัง

อาจารย์อัญชลี กล่าวอีกว่า พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นความผิดปกติ จำเป็นต้องพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา ทำจิตบำบัดเพื่อหยุดพฤติกรรมที่สร้างปัญหาให้กับตนเองและสังคม และป้องกันภัยที่อาจส่งผลเสียต่อสังคมในอนาคต
พศ.เชื่อเข้าข่ายมิจฉาชีพไม่กลัวบาป ใช้จุดอ่อนพระผู้ใหญ่
ส่วนในมุมมองของ "บุญเชิด กิตติธรางกูร" รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มองปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากผู้หญิงที่เข้าหาพระโดยไม่เกรงกลัวต่อบาป เพื่อหวังทำลายพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งอ่อนต่อโลก แม้ว่าพระรูปนั้นๆ จะเคยบวชเรียนและฝึกฝนมาอย่างไร แต่ไม่เคยได้ใกล้ชิดหรือมีโอกาสได้พบปะกับผู้หญิง ทำให้มีโอกาสที่จะหลงใหลหรือเข้าใจผิดไป
พร้อมยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง เชื่อว่าเป็นการดำเนินการโดยวางแผนล่วงหน้า ไม่ได้ทำคนเดียว เป็นการทำในลักษณะมิจฉาชีพ เจาะจงเข้าหาพระสมณศักดิ์สูง เพื่อหวังข่มขู่และหวังในทรัพย์สิน

"เรื่องที่น่ากังวลคือมีมิจฉาชีพแฝงเข้ามาหลอกพระค่อนข้างมาก ซึ่งกลัวว่าจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ถ้ามาทำอะไรกับพระแล้ว ขออะไรก็ต้องให้ เพราะพระผู้ใหญ่ซึ่งมีสมณศักดิ์สูงหรือมีตำแหน่ง เมื่อพลาดไปก็อยากที่จะปิดจบ ไม่อยากให้ไปไกลมากกว่านี้" นายบุญเชิด กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำนักพุทธฯ เดินหน้าออกกฎหมายดำเนินคดีกับ "พระ-ฆราวาส" ที่ทำให้ศาสนาเสื่อม ขณะที่รอง ผอ.สำนักพุทธฯ ยังมองว่าภัยทั้งหลายไม่ได้เกิดจากคนภายนอกเท่านั้น แต่เกิดจากภายในของพระสงฆ์เอง สังคมเห็นแล้วว่าพระชั้นผู้ใหญ่มีโอกาสตกเป็นผู้เสียหายมากกว่า ซึ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเช่นกัน เพราะจุดประสงค์ของการออกกฎหมายคือการคุ้มครองพระดีและจัดการกับพระไม่ดี
อ่านข่าว
ยกเครื่องกฎหมายเอาผิด "สงฆ์-ฆราวาส" ทำศาสนาเสื่อม
"มหาเถรฯ" จ่อเรียกตัวมาพบ "พระ" ที่ ตร.มีหลักฐานโยงสีกา ทั้งโอนเงิน-แชตไลน์