หลายพรรคไม่เห็นด้วย แบ่งเขต กทม.ใหม่

การเมือง
17 มี.ค. 66
07:03
983
Logo Thai PBS
หลายพรรคไม่เห็นด้วย แบ่งเขต กทม.ใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กกต.ส่งประกาศจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัด และการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขต ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วเพื่อประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา แต่หลายพรรคแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ขณะที่บางพรรคยื่นศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศ กกต.

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กทม.โดยด่วน เพราะเห็นว่า ประกาศของ กกต.ทำให้ประชาชนสับสน

รวมถึงขัดกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ "รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง" ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ในกรุงเทพฯ จับเอาแขวงของหลายเขตมารวมโดยไม่มีเขตหลัก มากถึง 13 เขตเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ นายสุรชาติ เทียนทอง แถลงคัดค้านและมองว่า หลักแบ่งเขตเลือกตั้งต้องดำเนินการตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกัน เป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ไม่ใช่แบ่งเขตเลือกตั้งตามแขวง

ทางพรรคเคยเสนอไปแล้วว่าควรจะยึดเขตการเลือกตั้ง ตามแบบให้ใกล้เคียงกับปี 2554 และปี 2557 มากที่สุด หากมีการตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ รัฐบาลปัจจุบันก็ต้องรักษาการนานออกไป ขณะที่ประชาชนไม่สามารถคาดหวังให้ ส.ส.เดิมที่ใกล้ชิดกันมาก่อน มาสานงานต่อได้

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค กล่าวยอมรับว่า มีปัญหาทับซ้อนของผู้สมัครในบางเขต และมีการหารือกับนายสกลธี ภัททิยกุล หัวหน้าทีม กทม.ไปแล้วว่าจะพิจารณาอย่างไร คาดว่าจะชัดเจนในสัปดาห์นี้ คาดหวัง ส.ส.อย่างน้อย 12 ที่นั่ง เท่ากับการเลือกตั้ง 2562 และเชื่อว่า ทุกเขตมีการแข่งขันสูง

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาในบางเขต เพราะ ส.ส.บางคน ไม่เคยลงพื้นที่เขตนั้นมาก่อน ส่วนประชาชนเองเคยอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับ ส.ส.ที่ผูกพันกันมาก่อน แต่เมื่อแบ่งเขตออกมาใหม่ อาจไม่ใช่พื้นที่เดิม แต่ไม่ว่าอย่างไร พอทุกอย่างนิ่งแล้ว ว่าที่ผู้สมัครจะได้เดินหาเสียงกัน

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พร้อมยอมรับทุกกติกา ไม่มีปัญหา แต่อาจจะต้องปรับบางส่วนให้สอดคล้องกับเขตเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปหลังจากนี้พรรคจะต้องทำไพรมารีโหวต

สำหรับตัวบุคคล ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมาย และตั้งเป้าหมายว่าจะส่งผู้สมัครให้ครบทั้ง 400 เขต และบัญชีรายชื่อครบทั้ง 100 คน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง