เปิดโปงขบวนการทุจริตงบรัฐ “อบรมทิพย์” โคราช

อาชญากรรม
17 มี.ค. 66
19:50
2,805
Logo Thai PBS
เปิดโปงขบวนการทุจริตงบรัฐ “อบรมทิพย์” โคราช
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 9 จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับ นพ.สันติ ทวยมีฤทธิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา โดยให้รายงานผลภายใน 10 วัน

นับจากหลัง ป.ป.ท. นำทีม 4 หน่วยงานปราบทุจริตนำหมายศาลจังหวัดนครราชสีมาเข้าตรวจค้น บ้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการจัดอบรมทิพย์ 4 เป้าหมาย เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา

แต่ นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) ย้ำว่า ยังมีการขยายผลสอบเพิ่มเติมและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตรวจสอบเส้นทางเงินย้อนหลังบุคคลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2560-2562 นับแต่เกิดปัญหาทุจริตโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในการป้องกันโรคให้กับประชาชน ของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ 32 อำเภอในพื้นที่ จ.นครราชสีมา

เฉพาะ “ด่านขุนทด” อำเภอเดียว ในปี 2562 พบมีการจัดอบรมทิพย์ หรือ “อบรมเท็จ” จำนวน 7 โครงการ งบประมาณโครงการละ 500,000 บาท มูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท

มีการทุจริต 29 อำเภอ ไม่มีการอบรมจริง แต่มีการตั้งเบิกจ่ายงบประมาณ อ้างว่าใช้พื้นที่รัฐจัดอบรม จากแผนประทุษกรรมพบว่า บางรายการนำชื่อผู้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2552, 2553,2554 มาสวมชื่อเบิกเงิน

“นอกจากนี้ยังมีอ้างชื่อผู้สูงอายุในพื้นที่แห่งหนึ่งมาประมูลร้านอาหารได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเกี่ยวข้อง ผู้เสียหายต้องไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่คนนี้ด้วย” เลขาธิการฯ ป.ป.ท. กล่าว

ส่วนการตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมการเงินของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เบื้องต้นพบมีเจ้าหน้าที่ 6 คนที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางการเงิน มีเงินและทรัพย์สินหมุนเวียนในบัญชีรวมกันกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งเกินฐานะของข้าราชการปกติ

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ก็เสียภาษีจากการประกอบอาชีพรับราชการ และข้อเท็จจริง คือ หากเป็นเงินเดือนจากราชการจะมีเงินหมุนเวียนจำนวนมากเช่นนี้ได้อย่างไร

“เขาทำกันด้วยความย่ามใจมาก ดังนั้น ปปง. ตรวจสอบว่าเส้นเงินไปถึงใคร เชื่อมโยงกับคนไหน หน้าที่ของเรา คือ จะส่งข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องไปให้ต้นสังกัดดำเนินการทางปกครองและวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้น” นายภูมิวิศาล กล่าว

มีข้อมูลทางการข่าวจากชุดปฏิบัติการตรวจค้นว่า พื้นที่ จ.นครราชสีมา มี 32 อำเภอ ได้รับงบประมาณด้านสาธารณสุขมากที่สุดในประเทศไทย ในขณะที่บุคคลเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่คุมนโยบายและแผนของจังหวัด ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน

ในแต่ละปีหลังได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขมาแล้ว ผู้เกี่ยวข้องจะไปแจ้งผู้บริหารระดับสูงว่า ได้รับงบมาจำนวนเท่าไหร่ เช่นได้งบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท ผู้บริหารฯ จะเอาเท่าไหร่ หาก “เอา” ก็จะไปจัดหามาให้ แต่ถ้าผู้บริหารบอกว่า “แล้วแต่” ก็จะไปจัดสรรมาให้เช่นกัน

จากการตรวจสอบยังพบอีกว่า กลุ่มที่ร่วมกันทำทุจริต ทราบว่าการใช้งบราชการที่จัดสรรได้ง่ายที่สุด คือ งบการฝึกอบรม จึงทำมาตลอด หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไปต้องการเงินด่วน แต่ผู้เกี่ยวข้องไม่มีเงินสด จึงใช้วิธีการโอนเข้าไปให้หลายครั้งๆ จึงเป็นจุดพลาด ทำให้ ปปง. ตรวจสอบร่องรอยทางการเงินได้

ไม่ว่าจะใช้วิธีการหลบอย่างไร เขาอาจคิดว่าตัวเองฉลาดแล้ว โอนเงินเข้าครั้ง 15,000 -30,000 บาท วงเงินไม่เยอะ ไม่เป็นที่ผิดสังเกต แต่เมื่อ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมการเงินที่มาบรรจบกัน ก็จบทุกราย

มีข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 - ปัจจุบัน พบว่า มีการโอนเงินมากกว่า 40 ครั้งให้กับผู้บริหารระดับสูงในอดีตบางราย และยังตรวจพบอีกว่ามีเส้นทางเงินเชื่อมโยงกับอดีตผู้บริหารระดับสูงอีก 3-4 คน ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของคำสั่งยึดอายัด เนื่องจากในกฎหมายระบุว่า หากเงินที่ได้มาจากมูลฐานความผิดทางธุรกรรม

และหากเส้นทางเงินไปถึงใคร เป็นหน้าที่ของคนนั้นๆ ที่จะต้องหาหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ตนเอง แต่ถ้าตอบไม่ได้ก็จะมีความผิดทางอาญาฐานฟอกเงิน และคงเลี่ยงไม่พ้นอาญาแผ่นดิน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สธ.ตั้ง คกก.สืบข้อเท็จจริง "รอง สสจ.โคราช" ปมจัดสัมมนาทิพย์

อายัดทรัพย์ "รอง สสจ.โคราช" โยงจัดสัมมนาทิพย์ - เร่งขยายผลขบวนการ

จนท.ค้นบ้าน "รอง สสจ.โคราช" โยงจัดสัมมนาทิพย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง