เช็กลิสต์! ใครต้องปลดล็อก ประกาศเขตภัยพิบัติ "ฝุ่น"

สิ่งแวดล้อม
29 มี.ค. 66
13:40
731
Logo Thai PBS
เช็กลิสต์! ใครต้องปลดล็อก ประกาศเขตภัยพิบัติ "ฝุ่น"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กางมาตรา 4 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใครต้องตัดสินใจประกาศเขตภัยพิบัติ (ฝุ่น) ชี้ไม่ใช่เรื่องยากถ้า "กปภ.ช. ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะแล้วลงมติ ส่วนคพ.เล็งปรับใช้เกณฑ์ WHO กำหนดระเบียบภัยพิบัติ
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังไม่ถึงขั้นต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ รวมถึงประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน

หากถอดรหัสคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่อยู่ในระดับสีแดง ต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ บางวันค่าเฉลี่ยสูงกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลกระทบต่อสุขภาพ

แม้เครือข่ายองค์กรจะเรียกร้องให้ท้องถิ่น และรัฐบาลสางปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งการลดการเผาที่เกิดขึ้นในฝั่งไทยที่พีคกว่า 5,500 จุดทุบสถิติรอบ 5 ปีและการเผาพื้นที่เกษตรในรอบประเทศเพื่อนบ้านที่กลายเป็นฝุ่นข้ามแดน แต่ดูเหมือนว่า “คำตอบ” จะเหมือนกับฝุ่นที่อยู่ในสายลม

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามแหล่งข่าวในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) วิเคราะห์สาเหตุที่ รมว.มหาดไทย ไม่ตัดสินใจประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่น ใน อ.แม่สาย ได้ทันที เพราะตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 4 คำนิยาม “สาธารณภัย”

อ่านข่าวเพิ่ม "รพ.แม่จัน" ค่าฝุ่นพิษสูงห้องเด็กแรกเกิด-หมอขอเครื่องฟอกอากาศ

ใครต้องประกาศ "ภัยพิบัติฝุ่น"

แหล่งข่าวระบุว่า เหตุผลที่ รมว.มหาดไทยและท้องถิ่นไม่สามารถตัดสินใจประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่นแม่สายได้ อาจจะไม่มีนิยามคำว่า “ภัยจากฝุ่น” โดยตรง เมื่อไม่ชัด จึงต้องใช้ดุลพินิจ

เรื่องนี้เคยมีลักษณะเดียวกับการตีความการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ไม่เข้าข่ายสาธารณภัย ต้องโยนให้จังหวัดเป็นผู้ตีความ ซึ่งแล้วแต่คนว่าจะความหรือไม่ตีความเพราะมีเงื่อนไข ทั้งเรื่องคน เวลา และระดับผลกระทบ

ส่วนตัวมองว่าทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำได้ไม่ยาก เพราะมีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รวมทั้งรัฐมนตรีมหาดไทย ควรหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุย และมีมติให้ผลกระทบฝุ่น อยู่ในนิยามของคำว่าสวาธารณภัย กำหนดให้ชัดเจน

หากมีการกำหนดชัดเจนเรื่องภัยฝุ่น เป็นสาธาณภัย การกำหนดเกณฑ์ว่าแบบไหนถึงจะเยียวยาได้ เชื่อว่ากรมควบคุมมลพิษ มีเกณฑ์อ้างอิงจากกองค์การอนามัยโลก (WHO) นำมาใช้กับสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นทุกปีได้ไม่ยาก

อ่านข่าวเพิ่ม เช็กลิสต์! แผนสกัดฝุ่น PM 2.5 ใครเตะถ่วง

อะไรเข้าเกณฑ์ "สาธารณภัย" ตาม มาตรา 4

ถ้ากางจากคำนิยามคำว่า "สาธารณภัย" ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ครอบคลุม อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ

การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าการจากธรรมชาติ มีผู้ทําให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐและให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย

แหล่งข่าวจากทส.ยังระบุอีกว่า เมื่อกางจากมาตรา 4 ที่ประกาศใช้ แม้จะไม่ชัดเจนเรื่องภัยจากฝุ่น แต่คำว่าที่ระบุว่า 

"ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าการจากธรรมชาติ มีผู้ทําให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน"

ตรงนี้ ต้องตีความออกมาให้ชัด ซึ่ง กปภ.ช.สามารถใช้อำนาจของตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ดำเนินการได้ทันที เพราะเรื่องปัญหาไฟป่า ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเกิดขึ้นทุกๆ ปี 

โค้งสุดท้ายเม.ย.นี้อีก 1 เดือนฝ่าฤดูฝุ่น

เพราะตราบใดที่มาตรการที่กำหนดออกมาในการแก้ไขปัญหาฝุ่น แต่หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละกระทรวง ยังจัดการไม้ได้ เช่น การเผาที่ทำให้เกิดจุดความร้อนในไทยยังมีมากกว่า 5,500 จุดทุบสถิติในรอบ 5 ปีก็ยังเกิดขึ้นนั่นหมายความว่าเราไม่สามารถคุมการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตรได้เลย

ปีนี้ยอมรับฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือรุนแรงหนักกว่าทุกปี ตอนนี้ยังเหลือฤดูฝุ่นอีก 1 เดือน คงได้แต่ใช้มาตรการบรรเทา ป้องกันตัวเอง เพราะการแก้จากแหล่งกำเนิดต้องใช้เวลาอาจเริ่มนับหนึ่งปีหน้า

แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับเกณฑ์ หรือระเบียบที่กำหนดค่าฝุ่นในระดับต่าง ๆ สีเหลือง ส้ม แดงนั้น มีมาตรฐานสากลอยู่แล้ว โดยอิงมาตรฐานตัวนี้มาปรับ และเพิ่มจำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินว่าแค่ไหน ถึงจะต้องประกาศเขตภัยพิบัติในไทย

ทั้งนี้เกณฑ์ของ WHO ในระดับ 4 ระบุว่าถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 เกินกว่า 100 มคก.ต่อลบ.ม. 3 วันให้ฝ่ายเลขาธิการฯ เสนอมาตรการและให้บอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ ซึ่งส่วนนี้ได้ทำไปแล้วว่ากระทรวงหรือหน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพ 

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าเพียงแค่ 2 เดือนครึ่งป่วยจากฝุ่น PM2.5 1,730,976 คน โดยสัปดาห์เดียวพุ่งสูงถึง 228,870 คน โดยเฉพาะกลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ 

เทียบค่าภัยพิบัติฝุ่นพิษ รัฐต้องเตือนประชาชน

ก่อนหน้านี้นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ระบุประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ยุโรป อเมริกา เกือบทุกแห่ง จะกำหนดดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อเตือนประชาชนให้ปฎิบัติตัวในการป้องกันมลพิษทางอากาศ รวมทั้งมีมาตรการทางกฎหมายจัดการก่อนลุกลาม

1.ได้มีการกำหนดคุณภาพอากาศที่เลวร้ายเป็นสีแดงและสีน้ำตาลโดยมีค่า AQI  ระดับ 7-9 หรือมีค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงระหว่าง 54-70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แสดงว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก คนแก่ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ต้องลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และระวังตัวเพราะอาจมีอาการแสบตา เจ็บคอ หรือไอเป็นต้นและยังกำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องอยู่ภายในห้องเท่านั้น

2.มีการกำหนดคุณภาพอากาศที่เลวร้ายมากเป็นสีม่วง โดยมีค่า AQI  ตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไปหรือมีค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป

แสดงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งต่อ กลุ่มเสี่ยง เด็ก คนแก่ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปต้องใช้เครื่องช่วยหายใจทุกครั้งที่อยู่กลางแจ้ง และไม่ควรออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง นักเรียนควรหยุดเรียน

3.ถ้าคุณภาพอากาศอยู่ในช่วงข้อ 1 (ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ระหว่าง 54-70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) รัฐบาลจะต้องเริ่มมีมาตรการทางกฎหมายในการปกป้องสุขภาพประชาชน โดยจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง 

แต่ถ้าอยู่ในระดับ 2 (ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป) รัฐบาลจะประกาศเป็นเขตควบคุมภัยพิบัติ ที่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

2 เดือนครึ่งป่วยฝุ่น 1.7 ล้านคน-สั่งตั้งวอร์รูม 6 จว.เหนือ  

ฟังเหตุผล! มท.1 ยังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติฝุ่นแม่สาย

"วราวุธ" ขู่เคอร์ฟิวคุมไฟป่าแก้ฝุ่นเหนือ Hotspot พุ่ง 5,572 จุดรอบ 5 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง