ยกระดับจัดการ "ภัยการเงิน" เข้มเปิดบัญชี-โอนเกิน 5 หมื่นต้องสแกนหน้า

อาชญากรรม
31 มี.ค. 66
18:22
625
Logo Thai PBS
ยกระดับจัดการ "ภัยการเงิน" เข้มเปิดบัญชี-โอนเกิน 5 หมื่นต้องสแกนหน้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกหนังสือคำสั่งให้สถาบันการเงินทุกแห่ง ยกระดับแผนบริหารจัดการและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อรับมือภัยทุจริตทางการเงินในทุกรูปแบบ มีผลบังคับใช้แล้ว

วันนี้ (31 มี.ค.2566) ปัญหาข้อมูลคนไทยรั่วไหลสร้างความกังวลว่ามิจฉาชีพอาจเข้าถึงข้อมูลและซ้ำเติมปัญหาหลอกโอนเงิน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงผู้จัดการสถาบันการเงินทุกแห่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งและผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีใช่สถาบันการเงิน รายงานแนวนโยบายบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมการเงินให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำของแบงก์ชาติ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.เป็นต้นไป

สถาบันการเงินทุกแห่งต้องเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชี กำหนดให้การเปลี่ยนวงเงิน หรือ โอนเงินเกิน 50,000 บาท ต้องสแกนใบหน้ายืนยันการทำธุรกรรม พัฒนาระบบตรวจจับและติดตามความผิดปกติจากการทำธุรกรรมการเงิน ทั้งในและนอกเวลาทำการ

ทั้งนี้ หากตรวจพบความเสี่ยงหรือความเสียหายผู้ให้บริการทางการเงินต้องแจ้งผู้ถือบัตรรับทราบภายใน 1 ชั่วโมง นับจากได้รับแจ้งเหตุจากผู้ถือบัตร พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าเบื้องต้นภายใน 1 วันทำการ

และหากผู้ถือบัตรได้รับความเสียหายถูกมิจฉาชีพหักชำระเงินผ่านบัตร โดยไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมเอง ผู้ให้บริการทางการเงินต้องคืนเงินเจ้าของบัตรเดบิตตามยอดที่ถูกตัดชำระให้ครบถ้วนโดยเร็ว ภายใน 5 วัน หากเป็นบัตรเครดิตจะต้องยกเลิกการเรียกเก็บและไม่คิดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากรายการดังกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดระบบกลไกและกำหนดผู้รับผิดชอบในการประสานงานกับสมาชิกเครือข่าย บัตรในการช่วยเหลือสมาชิก สามารถป้องกันตรวจจับ ตอบสนอง ป้องกัน และแก้ไขภัยทุจริตการเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ระบบธนาคารไม่พบข้อมูลรั่วไหล

ด้าน น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ระบุว่า แบงก์ชาติร่วมกับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร ตรวจสอบระบบของธนาคารแล้ว ไม่พบข้อมูลรั่วไหลจากธนาคาร โดยการทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ใช้เพียงข้อมูลพื้นฐานแต่ต้องมีรหัสและระบบยืนยันตัวตน

แบงก์ชาติกำชับให้สถาบันการเงินต้องมีระบบป้องกันข้อมูลลูกค้าอย่างเข้มงวด มีระบบตรวจจับความผิดปกติเพื่อให้การให้บริการทางการเงินมีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด พร้อมแนะแนวทางปฏิบัติตัวโดยหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินกับบุคคลอื่นผ่านโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรืออีเมล ที่ไม่น่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ หากถูกหลอกลวงให้ข้อมูลส่วนตัวหรือพบความผิดปกติของการทำธุรกรรมให้เปลี่ยนรหัสผ่าน Mobile Banking ทันที และติดต่อธนาคารที่ใช้บริการผ่านช่องทาง Hotline รวมทั้งดำเนินการแจ้งความโดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์ ยังไม่ฟันธงปมข้อมูล 55 ล้านชื่อ หลุดจากรัฐ-เอกชน

"ดีอีเอส" เร่งสืบข้อมูลคนไทยหลุด 55 ล้านชื่อ เชื่อไม่รั่วจากหน่วยงานรัฐ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง