ถอดสมการเครือข่ายเวียดนาม - มอดไม้กฤษณาป่าภูเขียว

อาชญากรรม
6 เม.ย. 66
13:45
238
Logo Thai PBS
ถอดสมการเครือข่ายเวียดนาม - มอดไม้กฤษณาป่าภูเขียว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
5 เดือนมานี้ เจ้าหน้าที่จับผู้ต้องหาลักลอบทำไม้กฤษณาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว รวม 14 คน ทั้งหมดมาจากประเทศเวียดนาม ที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร

ชิ้นไม้กฤษณา หรือ ไม้หอม น้ำหนักรวม 103.5 กก. เป็นของกลางคดีล่าสุดที่เจ้าหน้าที่ขยายผลยึดได้จากรถต้องสงสัย พร้อมสกัดจับผู้ต้องหาชาวเวียดนาม 5 คน ระหว่างขนไม้ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2566

  

เมื่อขยายผลต่อไปยังรีสอร์ทแห่งหนึ่งใน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น พบสัมภาระและอุปกรณ์การเก็บหาไม้กฤษณาจำนวนหนึ่ง นี่เป็นคดีมอดไม้กฤษณาเครือข่ายเวียดนามล่าสุดที่เกิดขึ้น

ข้อมูลจากหนังสือเดินทางบ่งบอกว่า ผู้ต้องหา 3 ใน 5 คนมาจาก จ.ก๋วงบินห์ ประเทศเวียดนาม เดินทางเข้าไทยพร้อมกันทางด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ทุกคนให้การว่าเข้าป่าลอบทำไม้กฤษณาในไทยเป็นครั้งที่สามก่อนถูกจับ

 

หนึ่งในกลุ่มผู้ต้องหา คือ บุคคลเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่ติดตามขบวนการมอดไม้กฤษณาชาวเวียดนาม เขาเป็นชายสัญชาติเวียดนามที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ทำหน้าที่เป็นนายหน้านำพา ดูแลที่พัก ประสานงานและรับส่งชาวเวียดนามที่จุดนัดหมายบริเวณช่องทางเข้าออกป่า กระทั่งส่งกลับพร้อมไม้กฤษณาที่แนวชายแดนไทย-ลาว แลกกับค่าตอบแทนคนละ 7,000 บาท

ถ้าจะขึ้นมาหาไม้กฤษณาก็ต้องเข้ามาในพื้นที่ส่วนลึกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องมีเส้นทางเฉพาะ ดังนั้น คาดว่าอาจมีคนไทยที่อยู่ในพื้นที่มีส่วนร่วมคอยนำพา

นายวิชานนท์ แสนผาลา หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ให้ข้อมูลว่า เมื่อชาวเวียดนามเข้ามาในประเทศไทย จะแบ่งออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน ตระเวนเข้าป่าลักลอบทำไม้กฤษณา โดยมีคนนำพาเป็นจุดเชื่อมโยงทำหน้าที่รับส่งและประสานงานกับแต่ละกลุ่ม

จุดเริ่มต้นคดีมอดไม้กฤษณาเครือข่ายเวียดนาม

คดีมอดไม้กฤษณาเครือข่ายเวียดนาม เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการขยายผลสืบสวนจับชาวเวียดนามเพิ่มเติม 6 คน พร้อมของกลาง 173 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566

 

การตรวจสอบหลักฐานพบว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นชาว จ.ก๋วงบินห์ของเวียดนาม มีประวัติการเดินทางเข้าประเทศไทยทางด่านตรวจคนเข้าเมืองจ.เชียงราย ,หนองคาย ,นครพนม และมุกดาหาร

คำให้การของผู้ต้องหาระบุว่า พวกเขาเข้ามาหาไม้กฤษณาในไทย โดยมีคนขับรถตู้รับส่งเข้าป่าที่มีไม้กฤษณา เช่นจังหวัดแพร่ น่าน เชียงใหม่ และชัยภูมิ ก่อนส่งขายต่อให้นายทุนชาวเวียดนามที่อยู่ในประเทศลาว ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับคุณภาพของไม้ที่เก็บหาได้

หากนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถึง เดือนมีนาคมนี้ เจ้าหน้าที่จับผู้ต้องหาลักลอบเข้ามาทำไม้กฤษณาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวได้อย่างต่อเนื่องรวม 14 คน ยึดชิ้นไม้กฤษณากว่า 350 กิโลกรัม รถยนต์ และอุปกรณ์ทำไม้

จากหลักฐานนอกจากการโพสต์ขายไม้กฤษณาในสื่อออนไลน์ ยังตรวจพบภาพเสือโคร่งทั้งตัว และชิ้นส่วนอวัยวะเสือในโทรศัพท์ของผู้ต้องหาด้วย บ่งชี้ว่า เครือข่ายนี้มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการล่าและค้าเสือโคร่งในประเทศไทย

 

ที่น่าสนใจก็คือ 14 คนนี้เป็นชาวเวียดนาม และ เกือบทั้งหมดมาจากจังหวัดก๋วงบินห์ จังหวัดนี้อยู่ห่างจากจังหวัดนครพนมประมาณ 145 กิโลเมตร และ มีข้อมูลว่านายทุนใหญ่เป็นชาวเวียดนามอยู่ที่เมืองนี้

 

สำรวจถิ่นไม้กฤษณาป่าภูเขียว

ต้นเดือนมีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ป่าภูเขียวสกัดกั้นการตัดไม้กฤษณา หลังมีข้อมูลการข่าวว่ายังมีชาวเวียดนามลักลอบทำไม้กฤษณาอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณช่องทางขึ้นเขาภูเขียว เป็นหนึ่งในเส้นทางที่วางกำลังเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนซุ่มเฝ้าระวัง

 

จากการลาดตระเวน เจ้าหน้าที่พบของกลางชิ้นไม้กฤษณาบรรจุในกระสอบสินค้าที่มีภาษาเวียดนาม นอกจากนี้ยังพบว่า อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทำไม้มีลักษณะเฉพาะ ไม่มีจำหน่ายในพื้นที่ของไทย

 

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวระบุว่า ยังต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ต้องสงสัยอีกหลายคน ที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้กระทำความผิด ทั้งคดีล่าและค้าสัตว์ป่า การทำไม้กฤษณาและไม้มีค่าอื่น

เชื่อมโยงคดีไม้กฤษณากับอาชญากรรมสัตว์ป่า

ข้อมูลจากฝ่ายพัฒนาฐานข้อมูลอาชญากรรมสัตว์ป่า สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2552 ถึงเดือนมีนาคม 2566 มีชาวเวียดนามจากจังหวัดก๋วงบินห์จำนวนกว่า 50 คน เข้ามาทำไม้กฤษณา และเกี่ยวข้องกับขบวนการล่าและค้าเสือโคร่งในประเทศไทย

ในจำนวนผู้ต้องหาชาวเวียดนามกว่า 50 คน พบว่าเป็นผู้ต้องหาจากคดีลักลอบทำไม้กฤษณาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ 24 คดี จำนวน 40 คน

ขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณารับเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 เป้าหมายเพื่อให้บังคับใช้กฎหมายได้คล่องตัวมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในความผิดอาญา พ.ศ. 2535 ได้รวดเร็วขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง