"มดลูกเทียม" หนทางการให้กำเนิดชีวิตใหม่ในอนาคต ?

Logo Thai PBS
"มดลูกเทียม" หนทางการให้กำเนิดชีวิตใหม่ในอนาคต ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำรวจความเป็นไปได้ของ "มดลูกเทียม" เทคโนโลยีฟูมฟักตัวอ่อนมนุษย์ให้เจริญเติบโตนอกครรภ์มารดา แก้ปัญหาการมีบุตรยาก และผลกระทบทางจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ในอนาคต

ศตวรรษที่ 21 นั้นเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็รวมไปถึงแนวคิดของนวัตกรรมใหม่อย่าง “มดลูกเทียม” (Artificial Womb) ที่จะช่วยเข้ามาแก้ปัญหาการมีบุตรยาก หรือปัญหาการคลอดบุตร กำลังได้รับความสนใจในหมู่นักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากมดลูกเทียมนั้นสามารถใช้ฟูมฟักตัวอ่อนของมนุษย์ให้เจริญเติบโตนอกครรภ์ของมารดาผู้ให้กำเนิดได้ โดยที่สตรีไม่ได้ต้องผ่านการคลอดบุตรแต่อย่างใด

ล่าสุดสถาบันวิทยาศาสตร์ไวส์มันน์ (Weizmann Institute of Science) จากประเทศอิสราเอลก็ได้ประสบความสำเร็จในการเจริญเติบโตตัวอ่อนหนูทดลองในมดลูกเทียม จนกระทั่งตัวอ่อนนี้พัฒนาอยู่ช่วงตัวอ่อนระยะเริ่มต้นได้แล้วเมื่อปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังสามารถเห็นการเต้นของหัวใจได้อีกด้วย

ทั้งฝ่ายสตรีนิยมบางส่วนก็ยังสนับสนุนแนวคิดการพัฒนามดลูกเทียมนี้อีกด้วย เนื่องจากการตั้งครรภ์นั้นเป็นภาระที่เพศหญิงต้องแบกรับเพียงฝ่ายเดียวโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่อาจสร้างความเท่าเทียมเท่ากับเพศชายได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าในยุคสมัยใหม่ผู้หญิงจะสามารถทำงานและเข้าถึงการศึกษาได้เท่าเทียมกับผู้ชายก็ตาม

ประกอบกับการที่มดลูกเทียมในอนาคตอาจช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตขณะคลอดบุตรได้ เพราะถ้าหากดูจากสถิติแล้วจะพบว่าในปี ค.ศ. 2020 มีผู้หญิงเสียชีวิตจากการคลอดบุตรทั่วโลกวันละประมาณ 800 คน ทั้งยังมีรายงานว่าเกิดการฉีกขาดของปากมดลูกไปจนถึงรูทวารมากกว่า 2-8% เลยทีเดียว ซึ่งต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเย็บแผลกลับเข้าไปใหม่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจมากนักที่แนวคิดเรื่องมดลูกเทียมนั้นจะเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในทุก ๆ ปี

สุกรอุ้มบุญบุตรมนุษย์ หนึ่งในแนวคิดสุดแหวกแนวเรื่องมดลูกเทียม

หนึ่งในแนวคิดเรื่องมดลูกเทียมที่น่าสนใจที่ได้รับการนำเสนออย่างน่าสนใจจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ก็คือ การใช้ “สุกร” มาอุ้มบุญให้กับบุตรมนุษย์ ซึ่งคุณ Ani Liu เจ้าของแนวคิดนี้กล่าวว่าตนมีแรงบันดาลใจมาจากเทคโนโลยีการนำสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ไปให้สัตว์ในวงศ์ใกล้เคียงอุ้มบุญตัวอ่อนแทน

ถึงกระนั้นสัตว์อุ้มบุญนั้นก็ต้องได้รับการตัดต่อพันธุกรรมมาให้มดลูกและสายสะดือสามารถเชื่อมต่อเข้ากับลูกของสัตว์ที่จะใส่ลงไปในครรภ์ได้เสียก่อน เนื่องจากการใช้สัตว์มาอุ้มบุญแทนมนุษย์นั้นอาจทำได้ง่ายกว่าการพัฒนามดลูกเทียมจากเครื่องจักรที่มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมซับซ้อน

นอกจากนี้สุกรก็ยังเป็นปศุสัตว์ที่มีการเลี้ยงในอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายทั่วโลกอยู่แล้ว และยังมีโครงสร้างทางพันธุกรรม หรือ DNA ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ถึง 90% ขณะที่ โค กระบือ มีความใกล้เคียงลดหลั่นลงมาที่ 80% แต่อย่างไรก็ตามใช้สัตว์สายพันธุ์อื่นอุ้มบุญแทนมนุษย์นั้นก็ยังมีความเสี่ยงทางด้านโรคร้ายข้ามสายพันธุ์และผลค้างเคียงอื่น ๆ ตามมา ส่วนมดลูกเทียมที่สร้างจากเครื่องจักรนั้นก็ยังคงมีปัญหาด้านการเลียนแบบสภาวะครรภ์มนุษย์ให้ได้อย่างเหมาะสม

บทบาทของการพัฒนา เทคโนโลยี "มดลูกเทียม" ในปัจจุบัน

ในปัจจุบันงานวิจัยหลายร้อยชิ้นที่เกี่ยวกับมดลูกเทียมส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เป็นไปในลักษณะการพัฒนานวัตกรรมมดลูกเทียมสำหรับเลี้ยงดูตัวอ่อนของมนุษย์ตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนถึงมีการพัฒนาอวัยวะอย่างเต็มที่ครบทุกส่วนเสียทีเดียว แต่เป็นการวิจัยในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตในครรภ์ต่าง ๆ ซึ่งมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป

ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนามดลูกเทียมเพื่อรองรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งมดลูกเทียมอาจช่วยพัฒนาอวัยวะให้เจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้นกว่าการใช้เทคโนโลยีตู้อบในปัจจุบัน มิฉะนั้นอวัยวะที่จำเป็นต่อระบบการหายใจอย่างปอดทั้งสองคู่ อาจพัฒนาไม่ได้เต็มที่และนำไปสู่โรคประจำตัวอย่าง “หอบหืด” ได้ในอนาคต

ส่วนอีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการพัฒนามดลูกเทียมเพื่อให้อวัยวะปลูกถ่ายจากสเต็มเซลล์ของผู้ที่ต้องการอวัยวะนั้น ๆ เจริญเติบโต เนื่องจากอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายจากสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเองจะมีรหัสพันธุกรรมตรงกันทุกประการ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดปัญหาการปฏิเสธอวัยวะหลังการปลูกถ่ายตามมา โดยวิธีการนี้ถือเป็นอีกทางเลือกเพิ่มเติมจากเทคโนโลยีการพิมพ์อวัยวะ 3 มิติ

ปัญหาทางจริยธรรมกับเทคโนโลยี "มดลูกเทียม" ในอนาคต

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการพัฒนาเทคโนโลยีมดลูกเทียมนั้น ย่อมมีปัญหาทางจริยธรรมตามมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุตรและพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ไปจนถึงความผิดพลาดร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีมดลูกเทียมก็ตาม

Christine Overall นักปรัชญาชาวแคนาดาแสดงความคิดเห็นต่อเทคโนโลยีมดลูกเทียมว่า เทคโนโลยีมดลูกเทียมนั้นจะเป็นภัยต่อเมื่อฝ่ายหญิงไม่สามารถเลือกได้ว่าสามารถจะให้บุตรของตนเติบโตในมดลูกเทียมหรือไม่ ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากการค้าอวัยวะมนุษย์

ทางที่ดีสังคมควรให้โอกาสให้ผู้หญิงมีตัวเลือกมากขึ้นว่าจะใช้นวัตกรรมมดลูกเทียมหรือไม่ตามแต่ความสมัครใจ เพราะสุดท้ายแล้วมดลูกเทียมก็อาจไม่ต่างอะไรการผ่าตัดคลอดมากนัก ซึ่งอาจช่วยชีวิตมารดาและบุตรได้อย่างมากมาย

แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรลืมว่าเทคโนโลยีมดลูกเทียมนั้นก็อาจเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน เมื่อเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด อย่างเช่น การใช้มดลูกเทียมเลี้ยงดูตัวอ่อนมนุษย์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทางภาคกฎหมายควรเข้ามารักษามาตรฐานทางจริยธรรมกับเทคโนโลยีมดลูกเทียมที่กำลังได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนี้

ที่มาข้อมูล: Wired , Ani Liu , The Economic Times , nature
ที่มาภาพ: Hashem Al-Ghaili , Ani Liu , Weizmann Institute of Science
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง