มติประชุม 2 คณะฯเพิกถอนพท.ทับซ้อนป่าสงวนฯ - เร่งป้อง "วาฬบรูด้า-หญ้าทะเล"

การเมือง
19 เม.ย. 66
13:21
231
Logo Thai PBS
มติประชุม 2 คณะฯเพิกถอนพท.ทับซ้อนป่าสงวนฯ - เร่งป้อง "วาฬบรูด้า-หญ้าทะเล"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ลุงป้อม" ถกวงประชุม 2คณะฯ สั่งเพิกถอนพื้นที่ทับซ้อนป่าสงวนฯ -คุมทิ้งขยะจากเรือ-เร่งปกป้อง "วาฬบรูด้า-หญ้าทะเล

วันนี้ (19 เม.ย.2566) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม 2 คณะ คือคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ เรื่องสำคัญเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีมติให้เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี บางส่วนในท้องที่ ต.บ่อนอก ต.อ่าวน้อย ต.เกาะหลัก ต.คลองวาฬ ต.ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์

และเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ตาลและป่าแม่ยุย และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด บางส่วน ที่ทับซ้อนกับพื้นที่ตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ในท้องที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พ.ศ.2512 และให้นำเสนอ ครม.ต่อไป

พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่18) พ.ศ.2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 มี.ค.2566

โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วย มาตรการควบคุมการทิ้งขยะในทะเลจากเรือและแท่น ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และพิจารณาเห็นชอบ กำหนดสถานีสำรวจติดตามสถานภาพทรัพยากรหญ้าทะเลจำนวน 128 สถานี เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้คงอยู่อย่างยังยืน

ปัจจุบันประเทศไทยพบแหล่งหญ้าทะเลครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ชายฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รวมพื้นที่ประมาณ 160,628 ไร่ และจะนำมาบรรจุในรายงานสถานการณ์ฯ ประจำปีต่อไป

นอกจากนี้ยังเห็นชอบการกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 116 ตัว และมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 8,000 คน/ปี ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น และมีความเสี่ยงอันตราย อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิต และพฤติกรรมทางธรรมชาติของวาฬบรูด้า ในอนาคตอันใกล้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง