ยาน "สตาร์ชิป" ระเบิดระหว่างทดสอบเที่ยวบินแรก

ต่างประเทศ
21 เม.ย. 66
07:46
1,514
Logo Thai PBS
ยาน "สตาร์ชิป" ระเบิดระหว่างทดสอบเที่ยวบินแรก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การทดสอบเที่ยวบินแรกของยานอวกาศ "สตาร์ชิป" จรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีการพัฒนาขึ้นมาในโลก ผลงานของบริษัท สเปซเอ็กซ์ เกิดระเบิดไม่กี่นาที หลังถูกปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า ในเที่ยวบินทดสอบที่ไม่มีลูกเรือ รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ

เสียงเชียร์ดังกระหึ่มขึ้นทันทีที่ยาน สตาร์ชิป ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าจากฐานปล่อยในโบกา ชิกา รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดี 20 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา

การบินทดสอบครั้งนี้ไม่มีมนุษย์อยู่บนยาน และเกิดขึ้นหลังจากไม่กี่วันก่อน สเปซเอ็กซ์ได้เลื่อนการทดสอบบินเต็มรูปแบบของยานลำนี้เพียงไม่กี่นาทีก่อนกำหนดการ หลังประสบปัญหาวาล์วแรงดันเย็นจัดจนแข็งตัว แต่หลังทะยานขึ้นจากพื้นโลกได้ราว 3 นาที สตาร์ชิปเริ่มออกอาการสูญเสียการทรงตัว ก่อนที่ไม่นานจะเกิดการระเบิดขึ้น

ผู้บรรยายระบุว่า เป็นไปตามที่สัญญากันไว้ว่าการทดสอบนี้จะจบลงอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยการระเบิดของสตาร์ชิปเป็นการจุดระเบิดทำลายตัวเองของยาน ซึ่งบินไปแตะความสูงระดับราว 39 กิโลเมตร ก่อนสูญเสียการควบคุม

ตามแผนเดิมคือ สตาร์ชิปจะบินไปในอวกาศที่ความสูงประมาณ 150 กิโลเมตรจากพื้นโลก ก่อนจะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้กับฮาวาย

หลายคนอาจจะแปลกใจที่พอเกิดระเบิดขึ้นแต่กลับมีเสียงเฮดังขึ้นจากห้องควบคุมและคนที่ติดตามการทดสอบยาน ซึ่งหากมองในมุมของสเปซเอ็กซ์ การทดสอบครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จแล้ว อย่างหนึ่ง คือ จรวดทะยานขึ้นจากฐานได้สำเร็จ โดยไม่สร้างความเสียหายแก่ฐานปล่อยยาน จุดนี้นับว่าทำได้เป็นอย่างดี และในการทดสอบบินครั้งแรกไม่ได้มีเป้าหมายจะให้สำเร็จสมบูรณ์แบบตลอดรอดฝั่งอยู่แล้ว

Timothe Pourpoint ผศ.ด้านการบินและอวกาศ จากมหาวิทยาลัย Purdue อธิบายว่า ทำไมเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เที่ยวบินทดสอบครั้งนี้ จึงตีได้ว่าประสบความสำเร็จ เพราะในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาที ที่จรวดพุ่งทะยานขึ้นจากฐานปล่อย และลอยอยู่บนฟ้าได้ราว 3 นาที ก่อนจะระเบิดทำลายตัวเอง

ถือว่าสเปซเอ็กซ์ ได้โอกาสเก็บข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับพัฒนาการทดสอบในครั้งต่อไป ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Timothe ยังบอกด้วยว่า การก้าวข้ามขีดจำกัดอย่างที่สเปซเอ็กซ์ กำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่จะพามนุษย์เราไปยังดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือไปไกลยิ่งกว่านั้นได้ในอนาคต

สตาร์ชิปเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างขึ้น มีระวางบรรทุกมากกว่า 100 ตัน หรือลูกเรือได้เกิน 100 คน จัดอยู่ในชั้นจรวดบรรทุกหนักมาก (super heavy-lift launch vehicle) ประกอบไปด้วย 33 เครื่องยนต์ โดยมีบูสเตอร์ที่ตั้งชื่อตรงตัวว่า Super Heavy เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ และทรงพลังมากกว่ายานอาร์ทีมิสของ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) เป็นเท่าตัว

ความสูงของสตาร์ชิป คือ 120 เมตร สูงกว่าเทพีเสรีภาพ และใหญ่กว่าจรวด Saturn Five ที่พามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้วในภารกิจอะพอลโล ช่วงทศวรรษที่ 1960-1970

สตาร์ชิปจะถูกนำไปใช้ในภารกิจ Artemis III ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ที่จะพามนุษย์โลกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือน ธ.ค.2025

ข่าวที่เกี่ยวข้อง