สงกรานต์จบ ยอดโควิด-19 กทม. เพิ่มเท่าตัว

สังคม
24 เม.ย. 66
07:55
2,233
Logo Thai PBS
สงกรานต์จบ ยอดโควิด-19 กทม. เพิ่มเท่าตัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กทม.เผยหลังเทศกาลสงกรานต์ พบผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 700 คนต่อวัน กลุ่มที่ไม่รายงานคาดมีถึงพันรายต่อวัน ขอความร่วมมือล้างมือให้บ่อย สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา แนะกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนตามฤดูกาลละ 1 เข็ม ชี้ปลาย เม.ย.- พ.ค เหมาะสุด

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า สถิติผู้ป่วยใน กทม.เพิ่มขึ้น จากช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่วันละ 300-400 คน ขณะนี้มีรายงาน อยู่ที่ประมาณกว่า 700 คน และยังมีที่ไม่ได้อยู่ในระบบรายงานอีก รวมแล้วน่าจะเป็นหลักพัน

แม้สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ ยังไม่อยากให้ตื่นตระหนกมาก เพราะยังเป็นโควิด-19 สายพันธุ์เดิม ส่วนสายพันธุ์ใหม่ที่กังวลว่าจะทำให้เกิดการระบาดมากขึ้นขณะนี้ยังพบไม่มาก

แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนกันไว้ - กทม.ยังให้บริการฟรี

พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า ที่สำคัญคนที่มีความเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือคนที่มีโรคประจำตัว เรื่องของวัคซีนเป็นตัวสำคัญโดย กทม.ยังมีวัคซีนทั้ง Pfizer Moderna AstraZeneca และยังมีการให้บริการภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ในกลุ่มที่มีภูมิไม่ดี คนที่เป็นโรคไต คนที่เป็น HIV หรือได้รับยากดภูมิต่าง ๆ

สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในช่วง 4-6 เดือนที่ผ่านมา ตอนนี้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง มีให้บริการทุกวันศุกร์ในช่วงบ่าย โดยจองผ่านแอปฯ QueQ นอกจากนี้ยังมีให้บริการที่โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 11 แห่ง และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล โดยให้บริการฟรี และวัคซีนยังมีเพียงพอ

ทั้งนี้ หากมีอาการแนะตรวจด้วย ATK เพื่อคัดกรองเบื้องต้น และแยกกักตัว ใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา ลดการไปปะปนกับคนอื่น ๆ หากต้องทำงานก็ควร work from home หรือเว้นระยะจากเพื่อนร่วมงาน หากมีอาการมากกว่านั้นให้พบแพทย์

ป่วยอาการน้อยให้กินยาตามอาการ ยัน "ยา-เตียง" เพียงพอ

พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องยาที่เราจะใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด หากเป็นไม่มากไม่จำเป็นจะต้องได้ยาแอนตี้ไวรัส สามารถทานยารักษาตามอาการ พักผ่อนให้มาก และแยกตัวจากคนอื่น 5-7 วัน แล้วตรวจคัดกรองอีกสักครั้งให้มั่นใจจึงค่อยกลับไปทำงานตามปกติ ยืนยันว่า ปัจจุบันยาและเตียงยังเพียงพอ 

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนนำมาตรการเดิมมาใช้ ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ส่วนกลุ่มเสี่ยงยังต้องใช้มาตรการในการป้องกันเป็น Universal Prevention ได้แก่ ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย

อย่าใช้มือสัมผัสหน้ากาก รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ ทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และหากสงสัยว่าตนเองเสี่ยงตรวจด้วย ATK บ่อย ๆ เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่

"หมอยง" ชี้ ฉีดวัคซีนโควิด เม.ย. และ พ.ค. เหมาะสุด

ขณะที่ตัวเลขโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น หลายคนอาจกำลังคิดถึงเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ฤดูกาลของโรคที่จะมีการระบาดเพิ่มสูงขึ้น ในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน เช่นซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ที่มีฤดูหนาวการระบาดของโรคก็จะเกิดขึ้นในฤดูหนาว

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ถึงแม้จะอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร แต่ไม่มีฤดูหนาวที่แท้จริง มีร้อนมากกับร้อนน้อย การระบาดของโรคในไทยจึงพบได้ตลอดปี แต่จะพบสูงสุดในต้นฤดูฝน

วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดโรคได้เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ การให้วัคซีนจึงมุ่งเน้นในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง 608 ผู้คนที่อยู่หนาแน่นเช่นในเรือนจำ เรือนทหาร และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงติดทั้งโรคง่าย ควรให้ตามฤดูกาลปีละ 1 ครั้ง เวลาที่เหมาะสมในการให้วัคซีนสำหรับประเทศไทย ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคที่จะเกิดขึ้น ในกลาง เดือน พ.ค. - มิ.ย.เป็นต้นไป ดังนั้นเวลาที่ให้วัคซีนที่เหมาะสมประจำปีจึงเป็นปลายเดือน เม.ย. และ พ.ค. ของทุกปี

ผู้ที่ได้รับวัคซีนมานานเกินกว่า 3-6 เดือนขึ้นไป และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรให้วัคซีนประจำฤดูกาลปีละ 1 ครั้ง ในปีนี้สามารถเริ่มให้ได้เลยก่อนที่จะมีการระบาดของโรค โดยใช้สายพันธุ์ที่ใกล้เคียงที่สุดที่มีอยู่ แล้วค่อยไปให้ปีหน้าอีก 1 ครั้ง

ทุกอย่างก็จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ในคนปกติก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจเช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มเปราะบางดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อลดความรุนแรงของโรค

ทำไมโควิด-19 ขาขึ้นช่วงอากาศร้อน

ขณะเดียวกันอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ ยังอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้โควิด-19 อยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง

นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา จาก สวทช. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า อากาศร้อน โควิดไม่ชอบ และแพร่ได้ไม่ดี แต่ตอนนี้อินเดียยังเป็นขาขึ้น และ ไทยก็กำลังขึ้น หลายคนสงสัยว่าทำไมอากาศร้อนแบบนี้โควิดถึงขึ้นได้

แต่ความเป็นจริงยิ่งร้อน คนยิ่งไปรวมกันในที่เย็นอากาศถ่ายเทไม่ดี โอกาสของการติดโควิดน่าจะง่ายกว่าช่วงอากาศดีๆที่คนออกไปเดินกันข้างนอก

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง