พณ.ชี้อากาศร้อน-แล้งทำผลผลิตผักลดลง-ราคาแพงขึ้น

เศรษฐกิจ
12 พ.ค. 66
07:30
1,335
Logo Thai PBS
พณ.ชี้อากาศร้อน-แล้งทำผลผลิตผักลดลง-ราคาแพงขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ราคาผัก พบผลผลิตบางรายการลดลงจากอากาศร้อน-แล้ง ออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลราคาผักแพงขึ้น

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2566 กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอาหารสด โดยนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ราคาหมูเนื้อแดงลดต่อเนื่อง ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศกิโลกรัมละ 140-145 บาท ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ต้นทุนอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น กระทบต่อต้นการเลี้ยงสุกรมีชีวิต

ล่าสุด กรมการค้าภายในหารือร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยยืนยันกับผู้เลี้ยงสุกรว่าราคาอาหารสัตว์จะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือกับผู้ผลิตแล้ว เพราะต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ราคาทรงตัว และบางรายการเริ่มปรับลดลง เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง

ส่วนราคาไก่ ปรับขึ้นเล็กน้อย ไก่น่องติดสะโพก กิโลกรัมละ 85-90 บาท, ไก่เนื้ออก กิโลกรัมละ 75-85 บาท, ไข่ไก่ เบอร์ 3 เฉลี่ยฟองละ 3.81 บาท ส่วนผักสดปรับราคาขึ้นบ้าง เพราะอากาศร้อนและแล้ง ทำให้ผลผลิตโตช้า แต่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วๆ นี้

ขณะที่นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์ราคาผักโดยทำงานใกล้ชิดกับตลาดกลาง พบว่า ผลผลิตบางรายการลดลง จากสภาพอากาศร้อนและแล้ง และพื้นที่เพาะปลูกบางแห่งประสบกับพายุฤดูร้อน ทำให้ผลผลิตผักออกสู่ตลาดน้อยลง แต่ขณะนี้เริ่มมีฝนตก คาดว่าสถานการณ์ผักจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติช่วงปลายเดือน พ.ค.เป็นต้นไป

ยกตัวอย่าง มะละกอ ราคาทรงตัว แต่ผลผลิตออกช้ากว่าปกติ, ผักชี ซึ่งเป็นผักไม่ชอบร้อนจัด แล้งจัด มีราคาสูงขึ้น แต่คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์จะดีขึ้น, กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ราคาทรงตัว

ส่วนมะนาว ขณะนี้ราคาเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกมากตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค.2566 เป็นต้นไป เพราะผลผลิตไม่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน และราคาอาจปรับลดลงต่อเนื่อง

อ่านข่าวอื่นๆ

ราคาตก-ต้นทุนสูง-หมูเถื่อนตีตลาด ทำผู้เลี้ยงหมูจ่อเลิกกิจการ

ทุเรียน “จันทบุรี” ราคาดี ดันยอดขายรถป้ายแดง-เครื่องมือเกษตรพุ่ง

ภาคประชาสังคมเชื่อไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ต้นเหตุค่าไฟฟ้าแพง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง