วิเคราะห์ : พายุฤดูร้อน “พิธา” ฝ่าคลื่นลม “นั่งนายกคนที่ 30”

การเมือง
18 พ.ค. 66
16:26
1,218
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : พายุฤดูร้อน “พิธา” ฝ่าคลื่นลม “นั่งนายกคนที่ 30”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้ฉากทัศน์การแถลงจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน 8 พรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 313 เสียง ภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งแวดล้อมไปด้วยอดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและพรรคการเมืองใหม่หมาดๆ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วม บรรยากาศทั่วไปดูเหมือนราบรื่น

และปฎิเสธไม่ได้ว่าภาพการจับมือพร้อมเพรียงของหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหมด จะมีนัยทางการเมืองเพื่อชิงความได้เปรียบ และสะท้อนให้เห็นเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลใหม่ต่อสายตาชาวโลก นักลงทุน และกองเชียร์

แต่ต้องไม่ลืมว่า ภาพที่เห็นกับความเป็นจริง ภายใต้ความราบรื่นนั้น อาจมีคลื่นลมแรงซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางความเงียบเชียบ

แม้นายพิธา ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 จะระบุว่า รัฐบาลพรรคก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน และทุกๆ เสียงที่ประชาชนมอบให้ เป็นเสียงแห่งความหวัง และเสียงแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สามารถบริหารราชการต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ

แม้ขณะนี้จะมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ส่วนหนึ่ง พร้อมร่วมยกมือโหวตให้นายพิธา นั่งเก้าอี้นายกฯ เบื้องต้นมีความชัดเจนแล้ว 9 คน ประกอบด้วย นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน, นายซากีย์ พิทักษ์กุมพล, นายอำพล จินดาวัฒนะ, นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์, น.ส.ภัทรา วรามิตร, นายรณวริทย์ ปริยฉัตรตระกูล และนายทรงเดช เสมอคำ จากทั้งหมด 250 ซึ่งจำนวนนี้มีทั้งงดออกเสียง ยังไม่ออกความเห็น และไม่โหวต

แต่กว่าจะไปไกลถึงการออกเสียงโหวตนายกฯ คนใหม่ จะต้องผ่านขั้นตอนการรับรองการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายใน 2 เดือนก่อน หากพิจารณาจากไทม์ไลน์ คาดว่าภายในเดือน ก.ค. ทาง กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้งได้ทั้งหมด เพื่อให้กระบวนการเลือกนายกฯ เดินหน้าต่อไป

แต่ระหว่างนั้นอาจมีการร้องเรียนข้อทุจริต ร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กกต. โดยอาจจะมีการสอย ส.ส.ด้วยการแจกใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม

ขณะเดียวกัน กกต.ต้องพิจารณาการร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ปม นายพิธาถือหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ว่าเข้าข่ายต้องพ้นจากสมาชิกพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคฯ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 24 ซึ่งมีลักษณะคุณสมบัติต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา98(3) หรือไม่ อีกทั้งจะเข้าข่ายมีความผิดตาม มาตรา 112 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่

โดย กกต.จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และหากเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำรอยกับปมนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นสื่อบริษัทวี-ลัคมีเดียฯ ในขณะนั้น นายพิธาก็จะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเช่นเดียวกับนายธนาธร

แต่การถูกเว้นวรรคการเมืองสำหรับพรรคที่ได้คะแนนเสียงลำดับ 1 ไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับนายพิธา คนเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อพรรคก้าวไกลด้วย เนื่องจากพรรคก้าวไกลเสนอแคนดิเดตนายกฯ แค่เพียงคนเดียว คือ นายพิธา

การถูกประหารชีวิตทางการเมืองของแคนดิเดต เบอร์ 1 ของพรรคฯ จึงเสมือนเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 เข้ามามีอำนาจในการต่อรองทันที

การต่อรองของพรรคเพื่อไทยจะมีดีล “เอาพ่อกลับบ้านหรือไม่” ไม่มีใครให้คำตอบได้ เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นภายใต้สีหน้ายิ้มแย้ม หันหน้าเข้าหากัน จับไม้จับมือ พร้อมส่งนายพิธานั่งนายกฯ คนที่ 30

จึงยังไว้ใจไม่ได้ว่า คลื่นลมที่ดูเหมือนสงบในยามนี้กับพรรคก้าวไกล จะไม่มีพายุการเมืองก่อตัวเงียบรอจังหวะซุ่มโจมตี ไม่ต่างจากพายุฤดูร้อนในยามนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : บรรยากาศชื่นมื่น 6 พรรคจับมือร่วม “รัฐบาลก้าวไกล”

เลือกตั้ง2566 : "พิธา" นำ 8 พรรคแถลงร่วมตั้งรัฐบาล 313 เสียง มั่นใจโหวตผ่านนายกฯ

เลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ เสียง ส.ว.กำลังตีกลับ “หนุนพิธา”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง